แผนการทำงานในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา

 

การทำงานทุกขั้นตอนในแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้ง หลังนา ตั้งแต่สัปดาห์แรกเริ่มจากการเตรียมดิน  การปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา ซึ่งประกอบด้วย การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดศัตรูพืช ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว ตลอดจนข้อควรระวัง ข้อสังเกตต่างๆ ในแต่ละระยะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สัปดาห์ที่ 1

การเตรียมพื้นที่ปลูก

       เตรียมดินทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเมื่อดินมีความชื้นเหมาะสม ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยไถดะด้วยผาลเจ็ด หรือรถไถเดินตาม จากนั้นพรวนด้วยโรตารี 1-2 ครั้ง เพื่อเก็บความชื้นและย่อยดินให้ร่วนซุย

       ระหว่างการไถเตรียมดิน ปรับพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อสะดวกในการส่งน้ำและระบายน้ำ ทำร่องน้ำรอบและผ่านแปลงนาให้ขนานกับแถวข้าวโพด

ไถกลบเศษฟางข้าว
ไถพรวนด้วยโรตารี 1-2 ครั้งเพื่อให้ดินร่วยซุย

ข้อควรระวัง

  • ข้าวโพดชอบดินที่โปร่งและระบายน้ำดี สภาพแปลงนาก่อนปลูกข้าวโพด ดินอัดตัวแน่นและระบายน้ำยาก เป็นผลมาจากการเตรียมดินสำหรับการทำนา
  • หลีกเลี่ยงดินเหนียวจัดซึ่งมีการระบายน้ำไม่ดี หากจำเป็นต้องปลูก ต้องมีการควบคุมการให้น้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาต้นข้าวโพดเน่า

ข้อสังเกต

  • หากความชื้นในดินเหมาะสม หลังจากการไถจะแตกร่วน หากดินมีความชื้นมากเกินไป ดินจะจับเป็นแผ่นหรือก้อนขนาดใหญ่
  • หากมีเศษฟางและตอซังข้าวหนา อาจเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องหยอดเมล็ด เกษตรกรควรหมักฟางข้าวให้เปื่อยในระหว่างการเตรียมดินโดยใช้โรตารีตีหมกฟางคลุกลงดิน แล้วสูบน้ำใส่ให้ท่วมหมักทิ้งไว้ 1สัปดาห์ แล้วไขน้ำออก ตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จนดินหมาด แล้วเตรียมดินตามปกติ
  • วิธีการเตรียมดินอาจขึ้นกับสภาพพื้นที่ หรือ ชนิดดิน

สัปดาห์ที่ 2

การเลือกใช้พันธุ์

     ควรเลือกใช้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เช่น พันธุ์นครสวรรค์ 3 นครสวรรค์ 5 ของภาครัฐ  รวมทั้งพันธุ์ของภาคเอกชน  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในสภาพนา ทั้งนี้การปลูกสภาพดังกล่าวมีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น ปุ๋ย และน้ำชลประทาน ลักษณะพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นา คือ มีลำต้นและระบบรากแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทนทานต่อน้ำท่วมขัง  นอกจากนี้เมล็ดพันธุ์ควรมีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และมีความแข็งแรงสูง

นครสวรรค์ 3
นครสวรรค์ 5
การตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดิน

     ควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจสอบสมบัติของดิน ซึ่งอาจจะส่งวิเคราะห์ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์วิจัยและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร รวมทั้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่างๆ  หรืออาจจะใช้ชุดตรวจสอบดิน สำหรับตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อกำหนดอัตราการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

ข้อควรระวัง

  • การปลูกข้าวโพดหลังนาอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งดินมีความชื้นค่อนข้างจำกัด หากใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ ความงอกไม่ดี อาจทำให้ต้องปลูกใหม่ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
  • เมล็ดพันธุ์การค้าที่จำหน่าย โดยปกติมีการคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างเรียบร้อยแล้ว หากมีเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คลุกแต่แนบซองบรรจุสารเคมีมาพร้อมเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรต้องคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนบมา ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ข้อสังเกต

  ควรทำแปลงทดสอบพันธุ์ในพื้นที่ปลูกเพื่อหาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่นั้น

การปลูกและการใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก

ปลูกเมื่อมีความชื้นในดินเหมาะสม เพียงพอต่อการงอกของเมล็ด

1.ปลูกด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร 

     ใช้รถแทรกเตอร์ลากจูงเครื่องปลูกและใส่ปุ๋ย ปรับให้มีระยะระหว่างแถว 70-75  เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม  20  เซนติเมตร จำนวน  1 ต้นต่อหลุม  หรือ อัตราปลูกประมาณ  10,600-11,400 ต้นต่อไร่  ใช้เมล็ด  3-4  กิโลกรัมต่อไร่

2.ปลูกด้วยแรงงานคน

      ใช้ระยะระหว่างแถว  70-75  เซนติเมตร  ระยะระหว่างหลุม  20 เซนติเมตร อัตราปลูกประมาณ  10,600-11,400 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4  กิโลกรัมต่อไร่  โดยใช้จอบขุดเป็นหลุม  หรือรถไถเดินตาม  หรือแทรกเตอร์ติดหัวเปิดร่อง

การใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก 

โดยหว่านปุ๋ยแล้วพรวนกลบ หรือ ใช้เครื่องหยอดพร้อมปลูก

ดินเหนียวสีดำ ใส่ปุ๋ย  15-15-15 อัตรา  40  กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินเหนียวสีแดงหรือดินร่วนเหนียว ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

ดินร่วนทราย  ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 60  กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ 500-1,000 กก./ไร่ 

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรให้น้ำหลังการปลูกทันที อาจเป็นปัญหาต่อการงอก ดินอัดแน่น เมล็ดไม่สามารถงอกได้ ทำให้เมล็ดเน่าเสียหาย
  • หากปลูกช่วงที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ เมล็ดอาจงอกช้า
  • การปลูกล่าช้า หลังเดือนธันวาคมทำให้ระยะออกดอกตรงกับช่วงอุณหภูมิสูง อาจทำให้ช่อดอกและไหมแห้ง ผสมไม่ติด ทำให้เมล็ดติดไม่เต็มฝัก
  • เลือกจานหยอดของเครื่องหยอดเมล็ดให้มีความเหมาะสมกับขนาดของเมล็ดพันธุ์ ตามคำแนะนำที่ระบุมากับเมล็ดพันธุ์

ข้อสังเกต

การปลูกสามารถทำได้ทั้งแบบปลูกบนพื้นราบและยกร่อง ซึ่งการปลูกแบบยกร่องจะสะดวกในการให้น้ำ และข้าวโพดยังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ   แต่มีต้นทุนการเตรียมดินที่สูงกว่าปลูกบนพื้นราบ

การควบคุมวัชพืช

    พ่นสารกำจัดวัชพืชทันทีหลังปลูก ใช้สารกำจัดวัชพืชอะลาคลอร์ 48 % ชนิดน้ำ อัตรา 125-150 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 80 ลิตรต่อไร่ หรือ อาทราซีน 80% ชนิดผง อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 80 ลิตรต่อไร่ พ่นคลุมดินหลังปลูก ก่อนข้าวโพดและวัชพืชงอก ขณะพ่นดินต้องมีความชื้น

สัปดาห์ที่ 3-4 (7-20 วัน หลังปลูก)

 การเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลง

เพลี้ยไฟ ตัวอ่อนของเพลี้ยไฟเริ่มเข้าทำลาย โดยอาศัยอยู่ตามซอกกาบใบและช่อดอก ดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบซีดขาว และเกิดเป็นรอยด่างเหลืองซีดเป็นหย่อมๆ เพลี้ยไฟจะระบาดมาก โดยเฉพาะในภาวะแห้งแล้ง หากมีความชุ่มชื้นในดินพอควรจะไม่มีปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ

หนอนกระทู้หอม  ทำลายในระยะข้าวโพดอายุ 1-2 สัปดาห์ เมื่อพบหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟักจากไข่ พ่นด้วยสารกำจัดแมลงนิวเคลียร์โพลีฮีโดรซิสไวรัส 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในเวลาเย็น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน  หรือ พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ เบตาไซฟลูทริน (2.5% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟลูอาซูรอน (5% อีซี) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟีนาเพอร์ (10% เอสซี) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ (15% เอสซี) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  พ่นซ้ำตามความจำเป็น

หนอนกระทู้หอม

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ทำลายข้าวโพด 2 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนออกดอก และระยะหลังออกดอก เมื่อพบยอดถูกทำลาย มากกว่า 50 ต้น จากข้าวโพด 100 ต้น ในระยะก่อนออกดอก พ่นด้วยสารเดลทาเมทริน (3% อีซี) อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรมูฟลูรอน (25% ดับบลิวพี) อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโปรนิล (5% เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล (5.17% เอสซี) อัตรา  20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

การทำลายของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เริ่มทำลายในระยะข้าวโพดอายุ 1 สัปดาห์ จนถึงระยะติดฝัก ตัวเต็มวัยสามารถวางไข่ต่อเนื่องหลายรุ่น โดยเฉพาะในช่วงข้าวโพดอายุ 1 เดือนแรกหลังงอก ควรมีการตรวจแปลงสม่ำเสมอ
วิธีการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
– คลุกเมล็ดด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล 20% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม แล้วค่อยพ่นสารทางใบต่อเมื่อพบการระบาด
– พ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อบีที สายพันธุ์ไอซาไว อัตรา 80 กรัม หรือ มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ สายพันธุ์เคอร์สตาร์กี้ อัตรา 80 กรัม หรือ มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน ได้ผลดีในการกำจัดหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก
– ในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ หรือ มวนเพชฌฆาต หรือ มวนพิฆาต
– ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง พ่นทางใบ เช่น
สารอิมาเมกตินเบนโซเอท (กลุ่ม 6) เช่น อิมาเมกตินเบนโซเอท 5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ สารอิมาเมกตินเบนโซเอท 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

สารสไปนีโทแรม (กลุ่ม 5) เช่น สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ สไปนีโทแรม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13)

สารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22)

สารเมทท็อกซีฟีโนไซด์ 30% เอสซี + สารสไปนีโทแรม 6% เอสซี (กลุ่ม 18+5) อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

กรณีการใช้สารคลุกเมล็ด การพ่นสาร ต้องเลือกสารที่ไม่อยู่กลุ่มเดียวกันกับสารคลุกเมล็ด (กลุ่ม 28)
การพ่นสารควรพ่นทุก 7 วัน หรือ เว้นระยะห่างตามสภาพการระบาดของแมลงและต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวีต) เพื่อลดความต้านทานของแมลง

กลุ่มไข่

รอยทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่เพิ่งฟัก

โรคราน้ำค้าง เข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดงอกจนถึงข้าวโพดมีอายุประมาณ 1 เดือน ลักษณะอาการ ใบจะมีทางสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน ข้าวโพดที่เป็นโรคจะไม่ไห้ผลผลิต แม้จะมีฝักก็ไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีเมล็ด ป้องกันกำจัดโดย ปลูกพันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์นครสวรรค์ 3 คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารเมทาแลกซิล (35% ดีเอส) อัตรา 7-10 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ เมทาแลกซิล-เอ็ม (35% อีเอส) อัตรา 3.5 มิลลิลิตร/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ ไดเมโทมอร์ฟ (50% ดับเบิ้ลยูพี) อัตรา 30 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม ถอนต้นเป็นโรคออกไปทำลายนอกแปลงปลูก ปลูกพืชหมุนเวียน

โรคราน้ำค้าง

ข้อสังเกต

     หากช่วงปลูกมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ต้นอ่อนชะงักการเจริญเติบโต อาจแสดงอาการใบสีม่วงคล้ายการขาดธาตุฟอสฟอรัส อาการจะคลายเป็นปกติเมื่อข้าวโพดเจริญเติบโต หรืออุณหภูมิสูงขึ้น

สัปดาห์ที่ 5 (21-30 วัน หลังปลูก)

การกำจัดวัชพืชระหว่างแถวข้าวโพด การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 และพูนโคนต้นข้าวโพด

เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน ทำการกำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกครั้งโดยโรยข้างแถวแล้วพรวนดินแถกร่องกลบด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกล ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการให้น้ำครั้งแรก

ดินเหนียวสีดำ  ใส่ปุ๋ย  21-0-0 อัตรา 30  กิโลกรัมต่อไร่  หรือปุ๋ย  46-0-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินเหนียวสีแดงหรือดินร่วนเหนียว  ใส่ปุ๋ย 46-0-0  อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินร่วนทราย  ใส่ปุ๋ย  46-0-0  อัตรา  20  กิโลกรัมต่อไร่

การให้น้ำชลประทาน

      ควรให้น้ำครั้งแรกหลังจากพรวนดินแถกร่อง เมื่อต้นข้าวโพดอายุได้ประมาณ 20-25 วัน ตลอดฤดูปลูกข้าวโพดควรได้รับน้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง พิจารณาจากความชื้นดิน หรือ อาการเหี่ยวของใบข้าวโพด

– ครั้งที่ 1 เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน

– ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน

– ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวโพดอายุ 60-65 วัน

– ครั้งที่ 4 เมื่อข้าวโพดอายุ 80 วัน

ข้อควรระวัง

    ข้าวโพดเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในระยะแรกของการเจริญเติบโต ซึ่งตายอดยังมาโผล่พ้นดิน อาจทำให้ต้นกล้าเน่าตายได้

ข้อสังเกต

   อาจสังเกตจากอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดในช่วงบ่ายในการตัดสินใจให้น้ำในแต่ละครั้ง

อาการเหี่ยวชั่วคราวเนื่องจากเริ่มขาดน้ำ ช่วงบ่ายใบจะเริ่มห่อ (leaf rolling)

เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

     เมื่อมีการระบาด พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงยอด

 

สัปดาห์ที่ 6-8 (31-45 วัน หลังปลูก)

การให้น้ำและใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2     

    ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (46-0-0) ครั้งที่ 2  อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่  เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน โดยโรยข้างแถวข้าวโพดหลังจากให้น้ำ หรือก่อนให้น้ำ จะทำให้ต้นข้าวโพดสมบูรณ์และเตรียมพร้อมสำหรับการออกดอก

พันธุ์ข้าวโพดโดยทั่วไปที่ปลูกในฤดูแล้งหลังนา มีอายุวันออกดอก 50% ประมาณ 60-65 วัน หลังจากปลูก  ซึ่งระยะที่ข้าวโพดเริ่มออกดอกและออกไหม เป็นระยะที่ต้องการน้ำที่เพียงพอ ดังนั้นควรให้น้ำอีกครั้งในช่วงข้าวโพดออกดอกอายุประมาณ 60-65 วัน

ข้อควรระวัง

    ระวังอย่าให้ข้าวโพดขาดน้ำช่วงออกดอก  ซึ่งจะกระทบต่อการให้ผลผลิต

ข้อสังเกต

    ในการให้น้ำ อาจสังเกตจากอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดในช่วงบ่าย

เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

     เมื่อพบการระบาดรุนแรง  พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงยอด เพื่อลดปริมาณหนอนที่จะเข้าทำลายในระยะติดฝัก

 

สัปดาห์ที่ 9-12 (46-70 วัน หลังปลูก)

เฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลง

เพลี้ยอ่อน

มักจะเกาะเป็นกลุ่ม ใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด ระยะที่ข้าวโพดกำลังมีช่อเกสรตัวผู้ เป็นระยะที่ข้าวโพดได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด เมื่อพบเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25 % ของพื้นที่ใบทั้งต้น โดยเฉพาะระยะที่แทงช่อดอกตัวผู้ พ่นด้วย คาร์บาริล (85% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยอ่อน

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

ทำความเสียหายโดยการเจาะเข้าไปภายในลำต้นข้าวโพดหรือฝัก ทำให้ต้นหักล้มง่าย เมื่อพบใบยอดที่ยังไม่คลี่ถูกทำลาย 40-50 เปอร์เซ็นต์ หรือ เมื่อพบรูทำลายที่ลำต้น 3 รูต่อต้น (หรือพบหนอน 2 ตัวต่อต้น) ในระยะข้าวโพดอายุประมาณ 30-40 วัน จึงใช้สารฆ่าแมลงป้องกันกำจัด เช่น ฟิโปรนิล (5% เอสซี) 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล (5.17 % เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

โรคต้นเน่าจากเชื้อรา (อาการเน่าแห้ง) และโรคต้นเน่าจากเชื้อแบคทีเรีย (อาการเน่าเปียกฉ่ำน้ำลำต้นยุ่ยมีกลิ่นเหม็น)

การป้องกันกำจัดเตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง หลีกเลี่ยงการปลูกแน่น เก็บต้นเป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก

โรคต้นเน่าแบคทีเรีย

ข้อสังเกต

  • ความเสียหายที่เกิดจากหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ไม่รุนแรงอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี
  • ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบแตนเบียน ช่วยลดการระบาดของหนอนเจาะลำต้นได้
  • ด้วงเต่า และแมลงหางหนีบช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนในธรรมชาติได้

สัปดาห์ที่ 13-18 (71-112 วัน หลังปลูก)

การให้น้ำระยะสร้างเมล็ดและสะสมน้ำหนักเมล็ด

ให้น้ำครั้งที่ 4 เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 75-80 วัน อย่างพอเพียง เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการธาตุอาหารและน้ำในการสร้างผลผลิต

ข้าวโพดจะมีการสุกแก่ทางสรีรวิทยาโดยทั่วไปประมาณ 45 วัน หลังออกไหม ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดหยุดการเจริญเติบโต มีการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุด

สังเกตได้จากส่วนโคนเมล็ดจะมีเนื้อเยื่อสีดำ เรียกว่า black layer เกิดขึ้น ทำให้การส่งผ่านธาตุอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวโพดสู่เมล็ดสิ้นสุดลง หลังจากนั้นความชื้นภายในเมล็ดจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศและความชื้นสัมพัทธ์

เนื้อเยื่อสีดำ (black layer)

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรให้น้ำอีกเมื่อข้าวโพดถึงระยะการสุกแก่ทางสรีรวิทยา  เนื่องจากไม่ช่วยเพิ่มผลผลิต และยังมีผลให้ความชื้นในฝักลดลงช้า
  • มักจะมีพายุฤดูร้อนทำให้เกิดปัญหาการหักล้ม

ข้อสังเกต

     ข้าวโพดกำลังสร้างเมล็ดอย่างเต็มที่ หากดินขาดโพแทสเซียมจะแสดงอาการลำต้นหักบริเวณต่ำกว่าฝักลงมาจนถึงโคนต้น ดังนั้นควรตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ดินก่อนปลูกข้าวโพดด้วย

สัปดาห์ที่ 19 (115-120 วัน หลังปลูก)

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวด้วยแรงงาน

  ใช้ไม้หรือเหล็กแหลมแทงปลายฝักปอกเปลือก แล้วหักฝักข้าวโพดใส่กระสอบ นำไปเทกองรวมไว้ในยุ้งฉาง

เก็บเกี่ยวด้วยแรงงาน

การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกล

   – ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแบบปลิดฝักต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60-80 แรงม้า เครื่องจะปลิดและรูดเปลือกหุ้มฝักข้าวโพดออก บรรจุกระสอบโดยอัตโนมัติ

เครื่องเก็บเกี่ยวแบบปลิดฝัก

– ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแบบเกี่ยวนวดอัตโนมัติ เครื่องจะเก็บรูดฝักข้าวโพด กะเทาะ และทำความสะอาด คัดแยกเมล็ดดีเก็บในถังจนเต็ม นำใส่รถบรรทุกส่งขายพ่อค้า


เครื่องเก็บเกี่ยวแบบเกี่ยวนวดอัติโนมัติ

ข้อควรระวัง

    1. เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัด   หรือแห้งหมดทั้งแปลงแล้ว 7 วัน  เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ  23 เปอร์เซ็นต์

    2. ไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังฝนตก  เพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดแห้งก่อน

ข้อสังเกต

– ข้าวโพดที่ฝักแก่จัดและแห้งสนิท ต้นและใบจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง มีความชื้นประมาณ 20-25%

– ถ้าต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นตามข้าวโพด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบข้าวโพดเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว  80-90 % เมล็ดจะมีความสมบูรณ์แล้ว

– เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 120 วันหลังปลูก สำหรับการปลูกในฤดูแล้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *