โครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร

จุดท่องเที่ยวภายในโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ศูนย์ฯ ดำเนินการในพื้นที่ 2.5 ไร่ โดยออกแบบทางภูมิสถาปัตย์ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการเจริญเติบโตของพรรณไม้หอมแต่ละชนิด รวม 120 ชนิด โดยได้แบ่งกลุ่มตามยุคสมัยคือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 11 ชนิด เช่น หมาก พลู พริกไทย สมัยก่อนสุโขทัยจำนวน 6 ชนิด เช่น มะพร้าว พิกุล สมัยสุโขทัย จำนวน 24 ชนิด เช่น อิน-จัน มะลิ จำปี สมัยอยุธยาจำนวน 55 ชนิด เช่น นมแมว กระดังงาไทย พะยอม สมัยธนบุรี จำนวน 2 ชนิด คือ โมกซ้อน โมกด่างแคระ และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จำนวน 22 ชนิด เช่น แก้วเจ้าจอม บุหงาส่าหรี ราชาวดี ทิวาราตรี เป็นต้น

ซึ่งไม้หอมเหล่านี้มีส่วนที่หอมแตกต่างกันไป บางชนิดก็หอมที่ดอก บางชนิดก็หอมที่ใบบางชนิดก็หอมที่ลำต้น หรือหอมที่รากก็มี

 

เส้นทางเท้าศึกษาธรรมชาติ

เป็นเส้นทางเดินเท้า ที่ร่มรื่นไปด้วยร่มไม้จากไม้ผลหลากหลายชนิดทั้ง เงาะ มังคุด ทุเรียน ลางสาด พืชสกุลระกำ โกโก้ รวมถึงพันธุ์ไม้พื้นเมือง เช่น ชะมวง สำรอง เป็นต้น เลาะเลียบไปตามคลองที่มีน้ำไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำหนองเสม็ด สามารถดูนก ซึ่งพบได้ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เช่น นกเขา นกแซงแซว นกกางเขน หรือปลา ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ริมคลองตามธรรมชาติตลอดเส้นทางเดิน โดยเส้นทางจะไปบรรจบที่สันของอ่างเก็บน้ำ ที่ถือเป็นจุดชมวิวอันสวยงาม เพราะสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำได้โดยรอบที่โอบล้อม ด้วยเงาของเขาสระบาปเป็นฉากหลัง ซึ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำนี้ยังเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตร และใช้ในการอุปโภคของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้ตลอดปีอีกด้วยถ้านักท่องเที่ยวมาในช่วงฤดูที่ไม้ผลเหล่านี้ออกดอกติดผล จะได้ลิ้มลองรสชาติจากส่วนที่ศูนย์ฯจัดไว้ให้

เรือนเพาะชำกล้วยไม้และรวบรวมพันธุ์เฟิร์น

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ทำการวิจัย สำรวจ รวบรวม และจำแนกกล้วยไม้ป่าในภาคตะวันออกไว้มากมาย กว่า 740 ตัวอย่างชนิดพันธุ์ ทำการจัดจำแนกหมวดหมู่ได้ 5 วงศ์ 38 สกุล จำนวน 70 ชนิด เช่น เหลืองจันทบูร หวายแดงจันทบูร เอื้องมัจฉา และเอื้องบายศรี เป็นต้น โดยทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราดในโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้หวายแดงจันทบูรอย่างมีส่วนร่วม โดยทำการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดแล้วนำกลับไปปลูกทั้งในและนอกแหล่งธรรมชาติ โดยชุมชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการวิจัยและอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นอกจากกล้วยไม้ป่าแล้วยังรวบรวมพันธุ์เฟิร์นนานาชนิด เช่นเฟิร์นลูกไก่ เฟิร์นกีบแรด เฟิร์นนาคราช ซึ่งล้วนมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้อีกด้วย

แปลงสมุนไพรพื้นเมือง

มีสมุนไพรท้องถิ่น  ซึ่งอยู่คู่กับเมืองจันท์มานานให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา  เช่น  พริกไทย กระวาน อบเชย เร่ว  เป็นต้น

แปลงรวมรวมพันธุ์เงาะ

ปัจจุบันเรารู้จักเงาะเพียง 2 พันธุ์ คือ เงาะโรงเรียน และเงาะสีชมพู ส่วนพันธุ์ที่ปลูกในอดีต เช่น น้ำตาลกรวด บางยี่ขัน เจ๊ะมง สีทอง คงเหลืออยู่น้อยมากทางศูนย์ฯ จึงได้รวบรวมไว้ นอกจากนี้ยังมีเงาะพันธุ์ลูกผสมที่มีสีสันแปลกตามากมายหลายพันธุ์

แปลงต้นแบบการผลิตมังคุด

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี มีแปลงต้นแบบการผลิตมังคุดคุณภาพ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดจันทบุรี สามารถผลิตมังคุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยี  และขยายผลให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือชุมชนที่สนใจนำรูปแบบไปปฏิบัติได้

แปลงรวบรวมพันธุ์ทุเรียน

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้รวบรวมพันธุ์ทุเรียนต่างๆ ได้ดำเนินการโดยสถานีทดลองพืชสวนพลิ้วและศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เป็นระยะนานกว่า 40 ปี (ปี 2510 – ปัจจุบัน) จนปัจจุบันสามารถรวบรวมจำนวนมากกว่า 500 พันธุ์ โดยปลูกในแปลงรวบรวมพันธุ์ทุเรียน 3 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จำนวน 97 พันธุ์ ศูนย์พัฒนาไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 354 พันธุ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี จำนวน 57 พันธุ์ ซึ่งได้ทำการศึกษาข้อมูลภูมิศาสตร์ถิ่นกำเนิด ถิ่นอาศัย ลักษณะประจำพันธุ์ โดยจำแนกหมวดหมู่ของพันธุ์ทุเรียน และจัดทำฐานข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ไปแล้ว กว่า 142 พันธุ์ และยังคงทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรทางพันธุกรรมทุเรียนไปใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด ทั้ง ชะนี ก้านยาว หมอนทอง กระดุม ซึ่งคุ้นเคยกันดี นอกจากนี้ยังมีพันธุ์อื่นๆ อีก เช่น พวงมณี กบ เล็บเหยี่ยว กบเจ้าคุณ กบตาขำ รวมทั้งพันธุ์ทุเรียนจากต่างประเทศ หากนักท่องเที่ยวมาตรงในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก็จะได้ชมการสาธิตการเก็บเกี่ยวแบบชาวสวนที่มีความชำนาญด้วย

แปลงเรียนรู้ขยายพันธุ์ไม้ผล

เมื่อศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีปรับปรุงพันธุ์ได้และเพิ่มพันธุ์ดีที่รวบรวมมาปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้นำมาขยายพันธุ์เพื่อจำน่าย จ่ายแจก และสนับสนุนงานวิจัยให้แก่เกษตรกร และนักวิจัยมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

แปลงเรียนรู้ขยายพันธุ์ไม้ผลเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถเยี่ยมชมพันธุ์ไม้ที่มีการขยายพันธุ์ไว้ มีการสาธิตให้ความรู้ด้านการขยายพันธุ์ไม้ผลในรูปแบบการเสียบยอด ให้สามารถนำกลับไปใช้ประกอบอาชีพหรือในชีวิตประจำวันได้