เตือนภัยการเกษตร 21-27 พฤศจิกายน 2561

เตือนภัยการเกษตร

ช่วงวันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2561

ภาคเหนือ ตอนบน

 1.ลำไย ใบแก่ก่อนออกดอกถึงติดผล  แตกยอดอ่อนหลังตัดแต่งกิ่ง ติดผลใกล้เก็บเกี่ยว (ศวส.เชียงราย)

      -โรคจุดสนิม (เกิดจากสาหร่าย) ใบแก่มีแผลสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก ขนาด 0.5-1 ซม. พบในบริเวณแน่นทึบไม่ได้ตัดแต่งกิ่งและความชื้นสูง ทำให้ใบสังเคราะห์แสงลดลง ใบอาจร่วงหล่นในที่สุด ทำให้เปลือกกิ่งแตกเป็นแผล ลำต้นทรุดโทรมลงได้

การป้องกันกำจัด

1.ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง พ่นสารกำจัดโรคพืช เช่น สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

      -โรคพุ่มไม้กวาด (เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา หรือสารพิษไรลำไย) ใบอ่อนหรือตาดอกแตกเป็นฝอย กระจุกคล้ายพุ่มไม้กวาด ทำให้ไม่ออกดอกและต้นทรุดโทรมระบาดมากในพันธุ์เบี้ยวเขียว แดงกลม

การป้องกันกำจัด

1.เลือกกิ่งตอนที่ไม่แสดงอาการ ปลูกพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทาน เช่น ดอแห้ว และสีชมพู ตัดส่วนที่เป็นโรคเผาทำลาย พ่นสารกำจัดไรลำไย ด้วยกำมะถันผง 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราช 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

     -หนอนคืบกินใบ เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลอ่อน มีขนสีเหลืองปกคลุม แต่ขณะเป็นต้นอ่อนมีสีเขียวอ่อน ลำต้นยาว 3-4 เซนติเมตร ในเวลากลาคืนหนอนกัดกินใบอ่อนจนเหลือแต่ก้านใบ

การป้องกันกำจัด

1.เขย่ากิ่งเอาหนอนที่ร่วงลงมาไปทำลาย หรือพ่นสารกำกัดแมลง เช่น แลมป์ดาไซฮาโลทริน 12 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคลอร์ไพรีฟอส 50 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร

      -ผีเสื้อมวนหวาน เป็นผีเสื้อกลางคืน ยาว 4 เซนติเมตร ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลปนเทา และปีกคู่หลังสีเหลืองส้ม ส่วนหนอนตัวยาว 5-8 เซนติเมตร สีน้ำตาลปนดำอยู่บนใบย่านาง ใบข้าวสาร และบอระเพ็ด ดูดน้ำหวานและทำให้ผลเน่าเสียร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด

ใช้สริงโฉบผีเสื้อกลางคืน กำจัดพืชอาหาร หรือใช้เหยื่อพิษใช้สับปะรดชุบสารคาร์บาริล อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แขวนไว้เป็นจุดห่างกัน 20 เมตร

ภาคเหนือ ตอนล่าง

1.ลำไย ทุกระยะเจริญเติบโต (ศวส.สุโขทัย)

     -โรคราสีชมพู  เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor สปอร์ของเชื้อราระบาดไปกับลมและน้ำฝน โดยเฉพาะกิ่งล่างมักจะถูกเชื้อรานี้เข้าทำลายเกิดเป็นโรคอยู่ทั่วไป ทรงพุ่มที่หนาทึบ ย่อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้มากและเร็วขึ้น ลักษณะอาการ ที่เกิดที่กิ่งโดยเฉพาะตรงง่ามของกิ่งหรือลำต้น กิ่งที่เป็นโรคใบจะปรากฏสีเหลืองซีดและเมื่อโรครุนแรงอาจทำให้ใบร่วงเหลือ แต่กิ่ง บริเวณกิ่งที่ถูกทำลายจะมีคราบของเชื้อราสีขาวอมชมพูแผ่ขยายปกคลุมคล้ายทา ด้วยสีชมพู เมื่อกิ่งแห้งจะเห็นคราบนี้ชัดขึ้นเป็นสีชมพูหรือสีปูนแห้ง เมื่อผ่าตรวจดูเปลือกจะผุ เนื้อไม้ยุ่ยและกิ่งแห้งตายไปในที่สุด ทั้งนี้เพราะเกิดคล้ายรากเทียมที่ใต้ผิวแผ่นเชื้อรา ที่แนบติดกับผิวของกิ่งเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงและทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้น สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งกิ่งเป็นโรคออกไปเผา เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคและให้มีการถ่ายเทอากาศดีขึ้น
  2. พ่นป้องกันกำจัดด้วย คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเอดิเฟนฟอส 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

     -หนอนคืบกินใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyodes scrobicularta Fabr.หนอน ผีเสื้อชนิดนี้ระบาดอยู่ทั่วไปตามแหล่งปลูกลำไยและลิ้นจี่ พบมากในบางแห่งโดยเฉพาะระยะที่ลำไยแตกยอดอ่อน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม ทำลายโดยกัดกินใบอ่อนให้เสียหาย ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต ตัว แก่เป็นผีเสื้อกลางคืน อาศัยผลลำไยและลิ้นจี่เป็นอาหาร ตัวสีน้ำตาลอ่อน มีคู่ที่สองสีน้ำตาลลายดำ ขอบปีกด้านบนเป็นแถบสีดำ ขนาดของผีเสื้อกางปีกกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ลำตัวมีขนสีเหลืองปกคลุม ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดไล่เรี่ยกัน ตัวเมียจะวางไข่ไว้เดี่ยวๆ ไข่มีขนาดเล็กกลมสีขาวไม่มีสิ่งปกคลุม และมักจะไข่ไว้บนยอดอ่อนใบอ่อน หนอนเมื่อฟักไข่ออกมาใหม่ๆ ตัวจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล มีแถบสีน้ำตาลตลอดลำตัว ขนาดตัวหนอนที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ระยะตัวหนอน 9 – 14 วัน ตัวหนอนจะเข้าทำลายใบอ่อนและยอดอ่อน มีนิสัยชอบทิ้งตัวเมื่อได้รับความกระทบกระเทือนใกล้เข้าดักแด้ตัว จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงใช้ใบห่อหุ้มแล้วเจริญเป็นดักแด้

การป้องกันกำจัด

  1. เขย่ากิ่งให้หนอนร่วงหล่นแล้วเก็บรวบรวมไปทำลายนอกแปลง
  2. เก็บรวบรวมดักแด้ไปทำลาย เช่น ฝัง หรือเผาไฟ
  3. เมื่อลำไยแตกยอดอ่อน ถ้าพบมีการระบาดควรจะพ่นยาฆ่าแมลงคาร์บาริล อัตรา 30 – 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แต่ถ้าหนอนระบาดมากทำความเสียหายให้อย่าง รุนแรงควรพ่นด้วยยาฆ่าแมลงโมโนโครโตฟอสในอัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

2.สตรอว์เบอร์รี ทุกระยะการเจริญเติบโต และสามารถเข้าทําลายผลผลิต ตั้งแต่ระยะดอก ผลอ่อน (ศว.กส.เพชรบูรณ์)

     -โรคเน่าคอดิน  มีอาการเหี่ยวบริเวณโคนต้น มีอาการฉ่ำน้ำ อาการรุนแรง เมื่อดึงเบาๆ ต้นจะขาดจากส่วนที่เป็นราก

การป้องกันกำจัด

1. ทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการใช้งานในแปลงปลูก

2.หลีกเลี่ยงไม่ทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชเกิดแผล เพราะเชื้อจะเข้าทำลายพืชทางแผล

3. เมื่อเริ่มพบโรค รีบขุดต้นที่เป็นโรคนำไปเผานอกแปลงปลูก

4.ไถกลบเศษพืชผักทันทีที่เก็บเกี่ยวแล้ว และทำการตากดินแล้วไถกลบอีกครั้ง

5.พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น

6.ฤดูถัดไปควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี

7.ก่อนปลูกพืช ควรไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า ๒๐ เซนติเมตร จากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก

     -โรคแอนแทรคโนส  เกิดจากเชื้อรา อาการของโรคแอนแทรคโนส มีจุดแผลแห้งเล็ก ๆ สีน้ำตาล อาการของโรคจะเห็นชัดเจนในระยะที่ผลเริ่มสุกเมื่อมีความชื้นสูง ใบอ่อนทําให้ใบหงิกงออาการเริ่มจากจุดสีเทาและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม

การป้องกันกำจัด

  1. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรค ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25%+25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย
  3. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืช ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
  4. ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่เคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน และไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ

ภาคใต้ตอนบน

1.มะพร้าว มะพร้าวที่ยังไม่ให้ผลผลิตและมะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว (ศวส.ชุมพร)

     -หนอนหัวดำมะพร้าว ตัวหนอนเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบจากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายทางใบหลายๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าว

หรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด

  1. การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าว เช่น แตนเบียนโกนีโอซัสนีแฟนติดิส (Goniozus nephantidis) โดยปล่อยช่วงเวลาเย็น พลบค่ำ อัตรา 200 ตัว/ไร่/ครั้ง ให้กระจายทั่วแปลงเดือนละครั้ง ถ้าปล่อยแตนเบียนได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น

3 การใช้สารเคมี

3.1 ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าวอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงข้ามกัน เจาะรูให้ลึก 10-15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกสว่าน ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานมากกว่า 3 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว)

** แนะนำเฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล

3.2 กรณีมะพร้าวต้นเล็กที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และไม่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นทรงพุ่มด้วยสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัม หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ สปินโนแซด 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร (สารนี้มีพิษสูงต่อผึ้ง ไม่ควรใช้ในสวนมะพร้าวที่มีการเลี้ยงผึ้ง) หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร (สารนี้มีพิษสูงต่อกุ้ง ไม่ควรใช้บริเวณที่มีการเลี้ยงกุ้ง) โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มบริเวณใต้ใบ 1-2 ครั้ง ควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้เช่นเดียวกัน

      – แมลงดำหนามมะพร้าว ทำลายส่วนใบของมะพร้าว โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย อาศัยอยู่ในใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ของมะพร้าว และแทะกินผิวใบ ใบมะพร้าวที่ถูกทำลายเมื่อใบคลี่กางออกจะมีสีน้ำตาลอ่อน หากใบมะพร้าวถูกทำลายติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ยอดของมะพร้าวมีสีน้ำตาล เมื่อมองไกลๆ จะเห็นเป็นสีขาวโพลน ชาวบ้านเรียก “มะพร้าวหัวหงอก”

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด
  2. การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับแมลงดำหนาม เช่น แตนเบียนอะซีโคเดส ฮิสไพนารัม (Asecodes hispinarum) มาเลี้ยงขยายเพิ่มปริมาณ และปล่อยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว
  3. การใช้สารเคมี

3.1 กรณีมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร ให้ฉีดสารเข้าต้น ด้วยสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ

3.2 กรณีมะพร้าวต้นเล็ก ใช้สารอิมิดาโคลพริด 70 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 1  กรัม หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 1 กรัม หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 1 กรัม ละลายน้ำ 1 ลิตรต่อต้น ราดบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว หรือ การใช้สารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% จีอาร์ หรือ คลอร์ไพริฟอส 75% ดับเบิ้ลยูจี ใส่ถุงผ้าที่ดัดแปลงคล้ายถุงชา อัตรา 30 กรัมต่อต้น มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้นานประมาณ 1 เดือน

      -ด้วงแรด ตัวเต็มวัยเข้าทำลายพืช โดยการบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลา หรือรูปพัด ถ้าโดนทำลายมากๆ จะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด ด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน ส่วนใหญ่พบตามพื้นดินในบริเวณที่มีการกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้พบอาการยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีเขตกรรม ทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมานาน ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย แกลบ ควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับเพื่อตรวจดู หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองขยะนั้นเสีย ส่วนของลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ต้นมะพร้าวที่ถูกตัดเพื่อปลูกทดแทน ถ้ายังสดอยู่เผาทำลายไม่ได้ ควรทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมารวมกันไว้ ปล่อยให้ผุสลายล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ ด้วงจะวางไข่ตามเปลือกมะพร้าวที่อยู่ติดกับพื้นดินเพราะมีความชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว เผาทำลายท่อนมะพร้าวเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้
  2. การใช้ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium sp.) ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด รดน้ำให้ความชื้น หาวัสดุ เช่น ใบมะพร้าวคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด เชื้อจะทำลายด้วงแรดมะพร้าวทุกระยะการเจริญเติบโต
  3. การใช้สารเคมี

3.1 ต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ซึ่งยังไม่สูงมากนัก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน
ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว
3.2 ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน ควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด

     – ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็กและด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่  มักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก ด้วงงวงมะพร้าวก็สามารถเจาะส่วนที่อ่อนของมะพร้าวเพื่อวางไข่ได้ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายใน   ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด

    การป้องกันกำจัด

  1. เลือกเก็บผลกาแฟที่สุกเต็มที่ และนำไปตากทันที ไม่ควรเก็บผลกาแฟไว้ในกระสอบนาน การตากควรตากบนลานพื้นปูนซีเมนต์ แคร่ไม้ไผ่ หรือตาข่ายสีฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกาแฟสัมผัสดินและความชื้น และควรพลิกกลับผลกาแฟในระหว่างตากเป็นช่วงๆ เพื่อให้สีของผลสม่ำเสมอ และป้องกันการเกิดเชื้อรา
  2. เมื่อพบเมล็ดกาแฟที่มีเชื้อรา รีบเก็บออกนำไปเผาทำลาย
  3. ทำความสะอาดเก็บกวาดเศษซากพืช หรือเศษเมล็ดกาแฟที่ตกค้างบนลานตาก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อ

     – น้ำท่วมสวนมะพร้าว มะพร้าวมีอาการเหี่ยว เนื่องจากรากขาดออกซิเจน ถ้าน้ำท่วมนานใบมีสีเหลืองและอาจทำให้มะพร้าวตายได้ กรณีน้ำท่วมขังไม่นานมะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้วอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน อาจทำให้ผลร่วง ใบเหลือง และยืนต้นตาย

การป้องกัน

1. ระบายน้ำออกจากแปลงปลูกให้ไวที่สุดหลังจากน้ำลด

2. ไม่ควรเข้าไปเหยียบย่ำ หรือใช้เครื่องจักรกลหนัก บริเวณแปลงปลูกมะพร้าวหรือบริเวณต้นมะพร้าว เพราะจะก่อให้เกิดการอัดแน่นของดินบริเวณราก ทำให้ออกซิเจน ไม่สามารถถ่ายเทได้สะดวก อาจทำให้มะพร้าวตายได้

3. กรณีที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานมะพร้าวอาจตายได้ ควรทำการปลูกซ่อมใหม่

2.ทุเรียน  ระยะใบเพสลาด-ระยะใบแก่และระยะติดผล (ศวส.ชุมพร)

     – โรคใบติด เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia sp. เกิดได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ เกิดเส้นใยสีขาว แผ่คลุมส่วนหลังใบเมื่อคลุมทั่วแผ่นใบมีลักษณะตายนึ่งคล้ายโดนน้ำร้อนลวก ในที่สุดใบจะร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นตรวจ ดูแลสวนทุเรียน ถ้าพบว่ามีอาการของโรคใบติดให้ตัดแต่งใบส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย

2. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้โปร่ง

3. ถ้าระบาดมากให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อรา

โรครากและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปเทอรา (Phytophthora palmivora (Butler))  ใบล่างเริ่มเป็นจุดเหลืองประเหลืองแล้วค่อยๆหลุดร่วง ส่วนอาการที่โคนต้นหรือกิ่งคล้ายมีคราบน้ำเกาะติดเห็นได้ชัดในสภาพต้นทุเรียนแห้ง ในช่วงเช้าถ้าอากาศชื้นจะเกิดยางไหลสีน้ำตาลแดงบริเวณลำต้น ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ต้นทุเรียนตายได้

อาการที่ราก อาการเริ่มจากใบที่ปลายกิ่ง จะมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาเหี่ยวลู่ลง อาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะพบรากฝอยมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาลและหลุดล่อนง่าย เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้นทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น เริ่มแรกทุเรียนจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง และจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกได้ชัดเจน ในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบน้ำจะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบรวงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย

อาการที่ใบ ใบช้ำดำตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะเกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบมากช่วงฝนตกรุนแรงต่อเนื่องหลายวัน

อาการที่ผล มักพบกับผลใกล้แก่ในช่วงฝนตกชุกหรือช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง เริ่มแรกจะเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนปลายหนามหรือซอกหนาม จุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล พบอาการโรคได้ทั้งผลที่ยังอยู่บนต้นและผลหลังการเก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัด

  1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
  2. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โคนต้นโปร่ง การถ่ายเทอากาศดี แสงแดดส่องถึง ควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น
  3. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตายควรขุดออก แล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงปลูกทดแทน
  4. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม
  5. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  6. เมื่อเริ่มพบต้นที่ใบมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลือง หลุดร่วง ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้น ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  7. เมื่อเริ่มพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก ทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรทุก 7 วันจนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น

     – หนอนเจาะผลทุเรียน (Fruit boring caterpillar)  ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อมาวางไข่ที่ผลทุเรียนเมื่อเข้าสู่ระยะหนอนหนอนจะเจาะเข้าทำลายทุเรียนตั้งแต่ผลยังเล็ก อายุประมาณ 2 เดือน จนถึงผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวทำให้ผลเป็นแผล อาจทำให้ผลเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ การที่ผลมีรอยแมลงทำลายทำให้ขายไม่ได้ราคา ถ้าหากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล ทำให้บริเวณดังกล่าวเน่าเมื่อผลสุก ที่บริเวณเปลือกของผลทุเรียนจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจน และจะมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่ ผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกันหนอนจะเข้าทำลายมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะแม่ผีเสื้อชอบวางไข่ในบริเวณรอยสัมผัสนี้

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย
  2. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
  3. การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้
  4. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล ในแหล่งที่มีการระบาด พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน พ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน

3.กาแฟโรบัสตา ผลสุกและระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต (ศวส.ชุมพร)

     -โรคราที่เกิดจากเชื้อ Aspergillus  ochraceus ผลกาแฟสุกที่ร่วงหล่นบริเวณใต้ต้น อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อรา หรือผลผลิตกาแฟมีความชื้น เนื่องจากเก็บผลกาแฟที่สุกเลยระยะเก็บเกี่ยว หรือเก็บไว้ในกระสอบเป็นเวลานาน หรือโดนฝนหรือความชื้นขณะตากผลกาแฟ พบเชื้อราเข้าทำลาย เมื่อนำมาสี ทำให้เมล็ดกาแฟแตก หัก คุณภาพลดลง

การป้องกันกำจัด

1. ไม่ควรเก็บผลกาแฟที่ร่วงหล่นบริเวณใต้ต้นไปใช้ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อรา

2. เลือกเก็บผลกาแฟที่สุกเต็มที่ และนำไปตากทันที ไม่ควรเก็บผลกาแฟไว้ในกระสอบนาน การตากควรตากบนลานพื้นปูนซีเมนต์ แคร่ไม้ไผ่ หรือตาข่ายสีฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกาแฟสัมผัสดินและความชื้น และควรพลิกกลับผลกาแฟในระหว่างตากเป็นช่วงๆ เพื่อให้สีของผลสม่ำเสมอ และป้องกันการเกิดเชื้อรา

3. เมื่อพบเมล็ดกาแฟที่มีเชื้อรา รีบเก็บออกนำไปเผาทำลาย

4. ทำความสะอาดเก็บกวาดเศษซากพืช หรือเศษเมล็ดกาแฟที่ตกค้างบนลานตาก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อ

    – กิ่งกาแฟหักโค่นเนื่องจากฝนตกหนัก กิ่งกาแฟที่ติดผลใกล้ถึงระยะเก็บเกี่ยวหักโค่นได้รับความเสียหาย

การป้องกัน

ควรใช้ไม้ค้ำยันกิ่งกาแฟเพื่อป้องกันกิ่งฉีก หักโค่น

 ภาคใต้ตอนล่าง

1.กล้วยหิน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)

     -โรคเหี่ยวของกล้วย ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว ก้านใบหักพับ ปลีกล้วยแคระแกร็นและเหี่ยวแห้ง หน่อกล้วยยอดเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียมจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง อาการเหี่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหลือง และยืนต้นตาย เชื้อสามารถเข้าทำลายลำต้นเทียม ก้านใบ เครือกล้วย ผล และหน่อกล้วย

การกำจัดโรค

  1. ทำลายกอกล้วยหินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมีวิธีการดังนี้

– ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นความยาว 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิลเอสเตอร์ 66.8% อีซีแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน

– นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่สารกำจัดวัชพืชแล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยเลือกเสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอ ประมาณ 2-3 ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในเวลาประมาณ 20-30 วัน

  1. โรยปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน
  2. ต้นกล้วยที่เป็นโรค หากมีปลี หรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อสาเหตุโรค และยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น
  3. หลังจากต้นกล้วยตาย ให้สับต้นกล้วยเป็นท่อน แล้วราดด้วย พ.ด.1 ที่ผสมน้ำตามคำแนะนำข้างซอง ใช้
    1 ซองต่อกอ เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย
  4. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย แล้วใช้ยูเรีย
    0.5 กิโลกรัม ผสมกับ ปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ โรยให้ทั่วกอ กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้
    3 สัปดาห์ เมื่อยูเรียและปูนขาวได้รับความชื้นจะแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินออกมา แล้วปลูกพืชได้ตามปกติ

การดูแลป้องกันต้นกล้วยที่ยังไม่เป็นโรคแต่อยู่ในแปลงที่มีต้นกล้วยเป็นโรค

ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตรต่อกอ รดให้ทั่วรอบต้น ทุก 30 วัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน

การป้องกันโรค

  1. การฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก

– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินพืชเดียว ฆ่าเชื้อโดยใช้ยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัมผสมกับ ปูนขาว 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถกลบให้ลึกพอสมควร ปาดหน้าดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเปิดหน้าดินให้แก๊สพิษออกมา จากนั้นทำปลูกกล้วยได้ตามปกติ

– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินแซมพืชอื่น ฆ่าเชื้อบริเวณหลุมปลูก โดยใช้ยูเรีย 0.5 กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อหลุม โรยให้ทั่วหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษออกมา แล้วปลูกกล้วยได้ตามปกติ

  1. ใช้หน่อกล้วยปลอดเชื้อ หรือไม่ใช้หน่อกล้วยจากแปลงที่เป็นโรคมาเป็นหน่อพันธุ์
  2. หลังปลูกหน่อกล้วย รดด้วยชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วรอบต้นและรดซ้ำทุก 30 วัน นาน 12 เดือน
  3. ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม ทุกครั้งก่อนนำไปใช้กับต้นต่อไป โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตรผสมน้ำ 3 ลิตร
  4. ไม่เดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากจำเป็นต้องเดินให้ฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อน ด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 3 ลิตร
  5. ไม่นำกล้วยหินที่เป็นโรคไปทำเป็นอาหารสัตว์

2. ทุเรียน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)

-โรคใบติด ใบที่พบจะมีรอยคล้ายๆ ถูกน้ำร้อนลวก ขอบแผลไม่แน่นอน อาจเริ่มที่ปลายใบ กลางใบ หรือโคนใบแล้วลุกลามจนเป็นทั้งใบ และจะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวนวลแผ่ปกคลุมคล้ายใยแมงมุมแผ่ไปตามผิวใบ ใบที่ถูกทำลายจะร่วงหล่นไปในที่สุด ถ้าใบที่เป็นโรคไปสัมผัสกับใบที่ปกติไมว่าจะเป็นใบที่อยู่ล่างๆ หรือใบที่อยู่เหนือกว่า ใบปกตินั้นก็จะเป็นโรคใบติดเช่นกัน

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้น

3.ลองกอง ให้ผลผลิตแล้ว (ศวส.ยะลา)

     – หนอนชอนเปลือกลองกอง หนอนกินใต้ผิวเปลือกทั้ง 2 ชนิด จะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกตามกิ่งและลำต้นลึกระหว่าง 2 – 8 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้กิ่งและลำต้นมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำซึ่งในช่วงหน้าฝนกิ่งจะมีความชื้นสูงและมักมีโรคราสีชมพูเข้าทำลายร่วมด้วย ถ้าหนอนกัดกินบริเวณตาดอกจะทำให้ตาดอกถูกทำลายและผลผลิตลดลง ถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้กิ่งแห้ง ต้นแคระแกรน โตช้า และตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1.ใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae)  อัตรา 50 ล้านตัว (1 กระป๋อง) ต่อน้ำ 20 ลิตร 1 ต้นใช้น้ำ 5 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน (ในกรณีมีอากาศแห้งแล้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย)

  1. ใช้สาร คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกบนลำต้น และกิ่งก้านที่มีรอยทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก
  2. กาแฟ ให้ผลผลิต (ศวส.ยะลา)

      – มอดเจาะผลกาแฟ มอดเจาะผลกาแฟเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กประมาณ 1.5-2 มม. พบว่ามอดตัวเต็มวัยเข้าทำลายผลกาแฟได้ตั้งแต่ขนาดผลกาแฟมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.3 ม.ม. ขึ้นไป โดยเพศเมียจะเจาะผลกาแฟบริเวณปลายผลหรือสะดือของผล ในผลกาแฟสามารถพบแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต (ระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย) แมลงอาศัยกัดกิน ขยายพันธุ์ในผลจนกระทั่งผลกาแฟสุก และยังสามารถอยู่ในผลกาแฟที่แห้งคาอยู่ในต้น ผลกาแฟที่หล่นลงพื้นดิน และแมลงอยู่ในกาแฟกะลาได้ในระยะหนึ่งถ้าเมล็ดกาแฟมีความชื้นเหมาะสม ซึ่งแมลงยังคงทำลายเมล็ดกาแฟกะลาระหว่างการตากเมล็ด ร่องรอยการเข้าทำลายของมอดเจาะผลกาแฟจะเห็นเป็นรูขนาดเล็กที่ปลายผลกาแฟบริเวณสะดือผล มักสังเกตได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกษตรกรไม่ทราบ อาจไม่ทันที่จะป้องกันหรือจัดการกับมอดเจาะผลกาแฟ

 การป้องกันกำจัด

ตัดกิ่งแห้งคาต้น และผลกาแฟที่สุกแห้งคาต้น และที่ร่วงอยู่ใต้โคนต้นออกไปเผาทำลาย และทำความสะอาดโคนต้น อย่าทิ้งผลที่ร่วงหล่นไว้ในแปลงเพราะจะเป็นแหล่งวางไข่และขยายพันธุ์ของมอดกาแฟในฤดูถัดไป