เตือนภัยการเกษตร ช่วงวันที่ 23-29 มกราคม 2562

เตือนภัยการเกษตร

ช่วงวันที่ 23-29 มกราคม 2562

ภาคกลาง ตอนบน

1.มะขามหวาน ระยะติดผลถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต และระยะคาบหมูถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต (ศว.กส.เพชรบูรณ์)

      -หนอนเจาะกิ่ง เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง จะว่างไข่ได้ประมาณ 300-500 ฟอง ตามรอยแตกและร่องบนกิ่งใหญ่ หรือกิ่งกระโดง ระยะไข่ 7-10 วัน เมื่อหนอนออกมาจากไข่จะเจาะเข้าไปกินอยู่ภายในกิ่งหรือลำต้น หนอนกินเนื้อเยื่อภายในเป็นโพรงยาวพร้อมขับถ่ายมูลออกมาทางปากรู ตัวหนอนระยะแรกมีสีน้ำตาลแดง หัวสีน้ำตาลอ่อน เมื่อโตเต็มทีเปลี่ยนเป็นสีแดง  เมื่อหนอนเจาะเข้าทำลายกิ่ง จะทำให้กิ่งแห้งตาย

การป้องกันกำจัด

        1.ตัดแต่งกิ่งที่ถูกทำลาย นำไปเผาทิ้งเพื่อกำจัดหนอนและดักแด้ที่อยู่ในกิ่ง

        2.ถ้าพบรอยทำลายบนกิ่งหรือลำต้น ให้ใช้สาร คลอร์ไพรีฟอส 40% อีซี อัตรา 1-2 มิลลิลิตรต่อรู ฉีดเข้าในรูแล้วอุดด้วยดินเหนียว   

      -หนอนเจาะฝักมะขาม ตัวหนอนสีชมพูอ่อนจะเจาะเข้าไปกินเมล็ดตั้งแต่ยังอ่อน แต่ทำลายมากในระยะคาบหมูจนถึงระยะเก็บเกี่ยว หนอนจะถ่ายมูลออกมา หนอนจะทำลายฝักที่แตกมากกว่าฝักปรกติ

การป้องกันกำจัด

     หมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายทิ้ง หากพบการระบาด พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์-ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 ภาคเหนือ ตอนล่าง

1.มะม่วง ออกดอกและช่อดอก (ศวส.สุโขทัย)

    –เพลี้ยหอย ตัวอ่อนสีน้ำตาลดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้กิ่งและใบเหี่ยวแห้งร่วงหล่นและอาจแห้งตายได้ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และจะปล่อยน้ำหวาน ออกมาทำให้เกิดราดำเจริญเติบโตปกคลุมบริเวณที่ถูกเพลี้ยหอยทำลาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมาก ในการทำลายของเพลี้ยหอยจะพบมดเป็นตัวการสำคัญในการช่วยเพิ่มการแพร่ระบาดมากขึ้น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะรูปไข่ยาวรี ลำตัวค่อนข้างแบนโค้งนูนเล็กน้อย ลักษณะเหมือนกระดองเต่า ตัวเต็มวัยมีความยาว 2.5-4.0 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลปนเขียว ตัวอ่อนที่เพิ่งออกมาจะเริ่มหาที่เกาะอาศัยตามพืชอาหาร ส่วนมากพบบริเวณกิ่ง การเจริญเติบโต ผ่านการลอกคราบ 2 ครั้งระยะตัวอ่อนประมาณ 60 วัน สภาพอากาศแห้งจะทำให้วงจรชีวิตของเพลี้ยหอยสั้นลง แต่บริเวณที่มีความชื้นสูงจะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนเพลี้ยหอยอย่างมาก ยิ่งในสภาพอากาศร้อนและอบอ้าว จะทำให้การแพร่กระจายเป็นไปได้ดีโดยเฉพาะในเรือนเพาะชำหรือแปลงอนุบาล

การป้องกันกำจัด

  1. ป้องกันและกำจัดมด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เพลี้ยหอยแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ด้วยไซเปอร์เมทิล อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. เมื่อพบเพลี้ยระบาดควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง มาลาไธออน อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากจะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้ผสมสารจับใบ เพื่อเพิ่มการแพร่กระจายและการจับติด

ภาคตะวันออก

1. มังคุด ออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

   -เพลี้ยไฟ บางครั้งมองดูตาเปล่าไม่เห็น สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมักพบระบาดในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่จะใช้ส่วนของปากเขี่ยผิวของใบและดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อนทำให้ยอดและใบแห้ง หงิกงอ แคระแกรน

การป้องกันกำจัด

      สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5 % เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ย 0.25 ตัวต่อผลอ่อน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้

     – ไรแดง ผลอ่อนจะมีเจริญเติบโตช้าหรือจะมีลักษณะผิวผลกร้าน เป็นขี้ขุย

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูใบมังคุด โดยใช้แว่นขยาย กำลังขยาย 10 เท่า ส่องดูด้านหน้าใบ ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีลมพัดแรง และฝนทิ้งช่วง
  2. เมื่อพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าไรพ่น การป้องกันกำจัดไร ได้แก่ สารโพรพาร์ไกต์ 30 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20 % อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 ** การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

2. ทุเรียน ออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

     -เพลี้ยไฟ ทำลายใบอ่อน ยอด ผลอ่อน โดยใช้ปากดูดน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดการแคระแกร็น ใบหงิกและไหม้ ดอกแห้งและร่วง ผลไม่สมบูรณ์แคระแกน

การป้องกันกำจัด

   สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ย 0.25 ตัวต่อผลอ่อน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้

     -ราทำลายดอกภายในดอกทุเรียน จะมีสีดำเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายทำให้เกสรทุเรียนได้รับความเสียหาย 

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน
  4. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย

     – ไรแดง ผลอ่อนจะมีเจริญเติบโตช้าหรือจะมีลักษณะผิวผลกร้าน เป็นขี้ขุย

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูใบทุเรียน โดยใช้แว่นขยาย กำลังขยาย 10 เท่า ส่องดูด้านหน้าใบ ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีลมพัดแรง และฝนทิ้งช่วง
  2. เมื่อพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าไรพ่น การป้องกันกำจัดไร ได้แก่ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 ** การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

3. เงาะ เตรียมความพร้อมในการออกดอก แตกใบอ่อน(ศวส.จันทบุรี)

     -หนอนคืบกินใบอ่อนและช่อดอก หนอนจะกัดกินใบอ่อน และช่อดอก ให้ได้รับความเสียหาย

การป้องกันกำจัด

  1. สำรวจแมลงและหมั่นกำจัดวัชพืชออกจากแปลงปลูกสม่ำเสมอ
  2. ควรพ่นสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือสารไซเปอร์เมทริน / โฟซาโลน 6.25% / 22.5% อีซี 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

       -แมลงค่อมทอง ตัวเต็มวัยกัดกินใบ ยอดอ่อน และดอก ใบที่ถูกทำลายจะเว้าๆ แหว่งๆ ถ้าระบาดรุนแรงจะเหลือแต่ก้านใบ และมีมูลที่ถ่ายออกมาปรากฏให้เห็นตามบริเวณยอด ตัวเต็มวัยเป็นระยะที่สำคัญที่สุด เพราะกัดกินส่วนต่างๆ ของพืช สีของตัวเต็มวัยจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม จึงพบมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีเทา สีดำ และสีเขียวปนเหลืองเป็นมัน ตัวเต็มวัยที่พบบนต้นพืชมักพบเป็นคู่ๆ หรือรวมกันเป็นกลุ่มอยู่บนลำต้น เมื่อต้นพืชถูกกระทบ กระเทือน จะทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน

การป้องกันกำจัด

    1. ตัวเต็มวัยมีอุปนิสัยชอบทิ้งตัวเมื่อถูกกระทบ กระเทือน ใช้ผ้าพลาสติกรองใต้ต้นแล้วเขย่าให้ ตัวเต็มวัยหล่น รวบรวมนำไปทำลาย

    2. บริเวณที่พบระบาดควรพ่นด้วย สารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 10-14 วัน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง

1. หอมแดง ระยะเริ่มปลูก (ศวส.ศรีสะเกษ)

    -หอมเลื้อย อาการของโรคพบได้ที่ ใบ กาบใบ คอ หรือส่วนหัว เริ่มแรกพบจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็กสีเขียวหม่น และขยายใหญ่เป็นรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อยบนแผลมีหยดของแหลวสีชมพูอมส้ม เมื่อแห้งจะเห็นตุ่มเล็กๆสีน้ำตาลดำเรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ใบพืชจะไม่ตั้งตรงจะเอนล้ม ทำให้ดูเหมือนเลื้อย ใบบิด โค้งงอ หัวลีบยาว เลื้อย ไม่ลงหัว ทำให้ต้นหอมเน่าเสียหายในแปลงปลูก เก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือไปเน่าเสียในช่วงเก็บรักษา

การป้องกันกำจัด

   1.แช่หัวพันธุ์หอมแดงที่ตัดแต่งใบและดอกออก ด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่า อัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 200 ลิตร

   2.ฉีดพ่นเชื้อไตรโครเดอร์ม่า อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ในช่วงเวลาเย็น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค

   3.หมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบโรคให้รีบถอนทิ้งและเผาทำลาย ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โปรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรฉีดติดต่อกันเกิน 4 ครั้ง ) ฉีดพ่นสลับกับสารแมนโคเซป 80 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 2.มะม่วง ติดผล (ศวส.ศรีสะเกษ)

   -แมลงวันผลไม้ การทำลายเกิดจากเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในเนื้อผลไม้  ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าและร่วงหล่น 

   1.รักษาแปลงให้สะอาด เก็บผลไม้ที่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย นำไปเผาทิ้งเพื่อลดการสะสมและขยายพันธุ์

   2.หากพบการระบาดรุนแรงพ่นให้ทั่วทั้งต้นด้วยสาร มาลาไธออน 57% อีซี อัตรา 20 -30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพรีฟอส 40%% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  ทุก 7 วัน

   3.พ่นเหยื่อพิษโปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมสาร มาลาไธออน 57% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นแบบเป็นจุก ต้นละ 1-4 จุด แถวเว้นแถว ทุก 5-7 วัน โดยเริ่มครั้งแรกก่อนการระบาด 1 เดือน และพ่นไปจนเก็บเกี่ยวผลผลิตจนหมด