ขั้นตอน วิธีการดำเนินการ การขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยง
การขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยง
ผู้ซึ่งประสงค์จะทำการขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์เพื่อการค้า ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ยื่นแบบคำขอ พ.พ. 15 และ บัญชีประกอบแบบคำขอ พร้อมหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบ พ.พ.15 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ด้วยตนเอง หรือโดยทางไปรษณีย์ ถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ในกรณีขึ้นทะเบียนพืชอนุรักษ์บัญชีต้องเสียค่าธรรมเนียม ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ จำนวน 500 บาท ต่อใบสำคัญการขึ้นทะเบียน 1 ฉบับ ซึ่งมีอายุ 5 ปี
2. เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแบบ พ.พ. 15 แล้วจะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ดังต่อไปนี้
2.1 หลักฐานประกอบแบบคำขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์
- ในกรณีบุคคลทั่วไป จะต้องมีสำเนาหรือรูปถ่ายบัตรประชาชน/ใบสำคัญประจำตัวอย่างอื่นที่ราชการออกให้ และต้องมี
รายมือชื่อรับรองด้วย
- ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลจะต้องมีสำเนาหรือรูปถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนวัตถุประสงค์และผู้มีอำนาจลงชื่อแทน
นิติบุคคลผู้ขอขึ้นทะเบียน
- ในกรณีที่ให้บุคคลใดดำเนินการแทนนิติบุคคล นั้นต้องมีหนังสือแสดงว่าเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการของนิติบุคคล
2.2 แบบบัญชีประกอบแบบคำขอขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์
- รายชื่อพืชอนุรักษ์ โดยระบุเป็นชื่อสามัญ และในกรณีที่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ให้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ด้วย
- จำนวนพ่อ-แม่พันธุ์ที่ใช้ในการขยายพันธุ์เทียม (ซึ่งจะต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย)
- วิธีการขยายพันธุ์เทียม
- จำนวนเพื่อการค้าที่เป็นไปได้ตามวิธีการขยายพันธุ์เทียมนั้น
- การจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อม
3. ในกรณีที่เอกสารไม่ครบ หรือเอกสารไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะติดต่อไปยังผู้ยื่นคำขอ ทางโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือทางไปรษณีย์ตามที่ผู้ยื่นคำขอแจ้งไว้ และผู้ยื่นคำขอต้องทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่รับแจ้ง มิฉะนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์ในคำขอนั้น
4. เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอที่ได้แก้ไขอย่างถูกต้องแล้วจะทำการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์พร้อมทั้งแบบบัญชีรายชื่อพืชอนุรักษ์ที่มีอยู่ในสถานที่เพาะเลี้ยงนั้น ให้ผู้ยื่นคำขอภายใน 30 วัน
5. เมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขึ้นทะเบียน สถานที่เพาะเลี้ยงดังต่อไปนี้
5.1 ภายในวันที่ 31 มกราคม ของแต่ละปี จะต้องจัดทำบัญชีแสดงจำนวนพืชอนุรักษ์ที่เปลี่ยนแปลงในรอบปีปฏิทีน
ตามแบบ พ.พ. 17 ซึ่งในทางปฏิบัติก่อนถึงสิ้นปีปฏิทินกรมวิชาการเกษตร จะมีหนังสือเพื่อเตือนให้ทราบ
5.2 ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดชนิด และจำนวนของพืชอนุรักษ์จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยใช้แบบ พ.พ. 18
5.3 ในกรณีที่มีการเปลี่ยน ชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ หรือชื่อผู้ดำเนินกิจการเพิ่มหรือลด หรือย้ายสถานที่
เพาะเลี้ยง จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยใช้แบบ พ.พ. 21
6. ในกรณีที่ผู้มีใบสำคัญฯ ไม่ปฏิบัติตามข้อ 5.1 และข้อ 5.3 พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือสั่งการให้ผู้ได้รับใบสำคัญฯ ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลา 45 วัน ถ้าพ้นกำหนดนี้แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ จะทำการยกเลิกใบสำคัญนั้น ผู้ได้รับใบสำคัญ ที่ถูกยกเลิกนั้น อาจขอยื่นใบสำคัญใหม่ได้ต่อเมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ใบสำคัญนั้นถูกยกเลิก
7. ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์มีอายุ 5 ปี ดังนั้นก่อนที่ใบสำคัญจะหมดอายุให้ผู้ที่ได้รับใบสำคัญฯ ที่มีความประสงค์จะต่ออายุ ใบสำคัญฯ ให้ยื่นแบบคำขอตามแบบ พ.พ. 19 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร (ควรยื่นก่อน 20 วัน ก่อนที่ใบสำคัญจะหมดอายุ)
8. ในกรณีที่ผู้มีใบสำคัญฯ ประสงค์จะขอใบแทนใบสำคัญฯ ให้ยื่นขอตามแบบ พ.พ. 20 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร