คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอย Steinernema riobrave ในการควบคุมด้วงหมัดผัก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอย Steinernema riobrave ในการควบคุมด้วงหมัดผัก
วิไลวรรณ เวชยันต์, สาทิพิพย์ มาลี และอิศเรส เทียนทัด
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         ศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอย Steinernema riobrave ในการควบคุมด้วงหมัดผัก ดำเนินการทดลองที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 โดยทำการทดสอบกับด้วงหมัดผักระยะหนอนวัย 3 และทดสอบกับตัวเต็มวัย โดยเตรียมตัวอย่างหนอนด้วงหมัดผักซึ่งทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างด้วงหมัดผักจากแปลงเกษตรกร อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นำมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการตามวิธีการของจอมสุรางค์และคณะ (2550) เพื่อให้ได้หนอนวัย 3 สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอย และเก็บดินบริเวณที่ปลูกผักนำมาแยกหนอนและดักแด้ในห้องปฏิบัติการพบหนอนวัย 3 จำนวน 1 - 22 ตัว และพบดักแด้จำนวน 1 - 6 ตัว จึงนำหนอนและดักแด้ที่เก็บรวบรวมได้มาทดสอบประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยโดยวิธี soil bioassay ตามวิธีการของ Glazer et al. (2002) พบว่า ไส้เดือนฝอยสามารถเขาทำลายหนอนด้วงหมัดผักและดักแด้ได้ภายใน 48 ชั่วโมง และไส้เดือนฝอยสามารถเจริญเติบโตในหนอนด้วงหมัดผักได้ และทดสอบประสิทธิภาพการเข้าทำลายด้วงหมัดผักระยะตัวเต็มวัยพบว่า จำนวนตัวเต็มวัยดวงหมัดผักตาย 4 - 6 ตัว และเมื่อนำด้วงหมัดผักที่ตายมาตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยการใช้เข็มเขี่ยแยกซากด้วงหมัดผักและหยดสารละลาย ไม่พบไส้เดือนฝอยเขาทำลายด้วงหมัดผัก

         ทดสอบการมีชีวิตรอดของไส้เดือนฝอย S. riobrave โดยการพ่นไส้เดือนฝอย อัตรา 2,000 ตัวต่อน้ำ 1 มล. ในดินในสภาพธรรมชาติ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 30±5 องศาเซลเซียส หลังพ่นไส้เดือนฝอยนาน 5 และ 7 วัน พบว่า ไส้เดือนฝอยสามารถมีชีวิตรอดในธรรมชาติและยังคงประสิทธิภาพการเข้าทำลายแมลงที่ 5 วัน ได้ดีกว่าที่ 7 วัน