คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: สำรวจรวบรวมและศึกษาสายพันธุ์ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงศัตรูพืช
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
สำรวจรวบรวมและศึกษาสายพันธุ์ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงศัตรูพืช
นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด และณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          จากการศึกษาสายพันธุ์ไส้เดือนฝอยในวงศ์ Steinernematidae จำนวน 2 ไอโซเลท รหัส KPs No.2 (อำเภอคลองขลุง) และ KPs No.3 (อำเภอเมือง) จังหวัดกำแพงเพชร และวงศ์ Heterorhabditidae จำนวน 2 ไอโซเลท จากจังหวัดเพชรบุรี และร้อยเอ็ด รหัส PRh และ REh โดยนำทั้ง 4 ไอโซเลท มาทำการเก็บรักษาความมีชีวิตในน้ำกลั่น สภาพอุณหภูมิห้อง (27+2 ซ) พบว่าในเวลา 3 เดือน KPs No.2, KPs No.3, PRh และ REh มีการตายเท่ากับ 17 12 25 และ 22% ตามลำดับ โดยการเก็บนาน 4 เดือน มีการเปอร์เซ็นต์การตายมากกว่า 40% หรือเท่ากับ 52 42 74 และ 70% ตามลำดับ เมื่อนำไส้เดือนฝอย KPs No.2 และ PRh เพาะเลี้ยงในอาหารเทียมชนิดแข็งกึ่งเหลวสูตรไข่ไก่ผสมน้ำมันหมู โดยทำซ้ำ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 182 และ 47.5 ล้านตัวต่ออาหาร 500 กรัม ตามลำดับ จากนั้นนำมาทดสอบศักยภาพในการกำจัดเห็บวัว พบว่า Heterorhabditis sp. PRh ฆ่าเห็บวัวได้ 90% ในเวลา 48 ชม. ในขณะที่ Steinernema sp. KPs No.2 ฆ่าได้เพียง 5% แต่ Steinernema sp. KPs No.2 สามารถฆ่าหนอนด้วงมะพร้าวโดยวิธีใช้เข็มฉีดไส้เดือนฝอยเข้าลำตัวหนอนด้วง ทำให้หนอนด้วงตายภายในเวลาเพียง 6 ชม. และไส้เดือนฝอยสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในซากหนอนด้วง และให้ไส้เดือนฝอยรุ่นใหม่เคลื่อนที่ออกจากซากหนอนจำนวน 122,000 ตัวต่อหนอน 1 ตัว เทียบได้กับการขยายไส้เดือนฝอยในหนอนกินไขผึ้ง ส่วนไส้เดือนฝอย KPs No.3 นำมาทดสอบเพาะเลี้ยงในสูตรไข่ไก่ผสมน้ำมันหมูและน้ำ ในอัตราส่วน 5 : 2 : 3 เปรียบเทียบกับสูตรหนังไก่ผสมน้ำ ในอัตราส่วน 7 : 3 และสูตรหนังไก่ + ไข่ไก่ + น้ำ อัตราส่วน 2 : 3 : 5 ได้ผลผลิตไส้เดือนฝอยเท่ากับ 420 52 และ 350 ล้านตัว/ลิตร เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดปลวกในไร่มันสำปะหลัง โดยนำไส้เดือนฝอยคลุกกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราใส่ในภาชนะล่อ ผลการทดสอบพบว่า การฝังสถานีเหยื่อล่อในร่องมันฯ ระยะห่าง 1.5 เมตร ช่วยลดความเสียหายของท่อนพันธุ์ได้ โดยพบการทำลายของปลวกเพียง 16.88% ในขณะที่ไม่ฝังท่อนพันธุ์เสียหายจากการทำลายของปลวกสูงถึง 59.38%