คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาอาชีพการเกษตรของเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาอาชีพการเกษตรของเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, อุดร เจริญแสง, สรินณา ชูธรรมธัช, อาริยา จูดคง, นลินี จาริกภากร, สุพร ฆังคมณี, ลักษมี สุภัทรา, โนรี อิสมะแอ, วชิระ ณ พัทลุง, บรรเจิด พูลศิลป์, ฉัตรชัย, กิตติไพศาล, สุวณีย์ ธัมมิกะกุล, จิตต์ เหมพนม, สุคนธ์ วงศ์ชนะ และจิระ สุวรรณประเสริฐ
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส,ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา จังหวัดยะลา,ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี จังหวัดปัตตานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกาตรสงขลา จังหวัดสงขลา

          เป็นการให้บริการทางวิชาการ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการ "เข้าใจเข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกรอบแนวคิดในการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เพื่อทำความ "เข้าใจ" ชุมชน ภูมิสังคม สภาพเศรษฐกิจ ประเด็นปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเปิดโอกาสให้เกษตรกร "เข้าถึง" การให้บริการทางวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปสู่การ "พัฒนา" เทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความยั่งยืนในกระบวนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ลดปัญหาความยากจนของเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          กิจกรรมระหว่างปี 2550-2553 มุ่งเน้นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการพืช ยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน ผักไร้ดิน พืชไร่เศรษฐกิจ พืชไร่อาหารสัตว์ และการปรับปรุงคุณภาพยางแผ่นเพื่อเข้าสู่ตลาดยางพารา เกษตรกรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจำนวนทั้งสิ้น 28,548 ราย มีความเข้าใจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากเดิม 31.36 เปอร์เซ็นต์

           ดำเนินการจัดทำแปลงต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช 15 ชนิด 71 แปลง 372 ไร่ และผักไร้ดิน 150 มุ้ง ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 โดยมีเกษตรกรจำนวน 3,162 ราย ได้ "เข้าถึง" แหล่งเรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตพืชและ "เข้าใจ" วิชาการ "เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)" ของกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจำนวน 298 ราย สามารถ "เข้าถึง" องค์ความรู้ด้านการเกษตรจากการศึกษาดูงานนอกพื้นที่ทำให้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ เกิดแนวคิด แนวปฏิบัติ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนา "พัฒนา" อาชีพเดิมของตนเองและสร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน

          เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมได้ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 ในการนำองค์ความรู้ของกรมวิชาการเกษตรไปร่วมกัน "พัฒนา" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน ผักไร้ดิน พืชไร่เศรษฐกิจ และพืชไร่อาหารสัตว์ จำนวน 1,263 ราย พื้นที่ 2,493 ไร่ และผักไร้ดินจำนวน 30 มุ้ง เพื่อใช้เป็นแปลงทดสอบต้นแบบในพื้นที่เกษตรกร โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยยางพาราแบบผสมผสาน ได้ผลผลิตยางแห้งเพิ่มขึ้นเป้น 283.17 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีรายได้เพิ่มขึ้น 4,100 บาท/ไร่/ปี ส่วนการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ผลผลิตยางแห้งเพิ่มขึ้นเป็น 270.99 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,800 บาท/ไร่/ปี

          การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลองกองคุณภาพ โดยการจัดการช่อดอก ช่อผล การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี และการจัดการทรงพุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นลองกอง ทำให้ผลผลิตลองกองมีคุรภาพเกรด A เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากวิธีเดิมของเกษตรกรร้อยละ 107.08, 110.01 และ 190.46 ของวิธีเกษตรกร ตามลำดับ วิธีแนะนำทั้ง 3 วิธีการ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4,600-11,800 บาท/ไร่/ปี ได้ดำเนินการจัดตั้งตลาดยางพาราจังหวัดยะลา ทำให้เกษตรกรจำหน่ายยางให้กับตลาดกลางได้ราคาสูงกว่าราคาในตลาดท้องถิ่นถึง 5.73 บาท/กิโลกรัม โดยในช่วงปี 2551-2553 ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดกลางจำนวน 1,997.14 ตัน คิดเป็นมูลค่า 149.82 ล้านบาท

          จากผลการติดตามประเมินผลโครงการฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขตที่ 9 สรุปได้ว่า โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรฯ เป็นโครงการที่ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างมาก และกรมวิชาการเกษตรยังได้กำหนดการประเมินผลดัชนีตัวชี้วัด (KPI) ร้อยละของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการพัฒนาอาชีพและมีความรู้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2551-2553 ซึ่งผ่านการประเมินทั้งสามปี นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวชี้วัดด้านการจัดการองค์ความรู้ (KM) ของกรมวิชาการเกษตร และได้จัดพิมพ์เอกสารวิชาการเรื่อง "เทคโนโลยีการจัดการคุณภาพผลผลิตลองกอง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการแก่เกษตรกรในการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาการผลิตลองกองให้มีคุณภาพต่อไป