คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
สุปรานี มั่นหมาย
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสำหรับพืช ประกอบด้วย 2 การทดลอง ได้แก่ การทดลองที่ 1 ศึกษาวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ด โดยใช้ยิปซัมและดินเหนียวเป็นวัสดุดูดซับ ปั้นเป็นเม็ด เพื่อนำไปใช้กับการปลูกแบบหลุมปลูกหรือปลูกเป็นแถว และใช้ได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา แล้วทดสอบประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมที่ผลิตได้กับถั่วเหลือง การทดลองที่ 2 การศึกษาวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตพร้อมใช้ โดยทดลองวิธีการผลิตเชื้อราละลายฟอสเฟตให้อยู่ในรูปแบบปุ๋ยชีวภาพ โดยศึกษาวิธีการเลี้ยงขยายปริมาณสปอร์ของเชื้อรา ศึกษาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเชื้อรา ทดลองผลิตปุ๋ยชีวภาพแบบพร้อมใช้ และทดสอบประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพกับพืช 

      ผลการศึกษาพบว่า สามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมให้อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้ได้ง่าย โดยมีปริมาณไรโซเบียมต่อเม็ดปุ๋ยชีวภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานคือมีไม่น้อยกว่า 1 x 10(4) เซลล์/เม็ด และมีอายุเก็บรักษาไว้ได้นาน ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดที่ใช้ยิปซัมและดินเหนียวมีปริมาณไรโซเบียมมากกว่า 1 x 10(4) เซลล์ใน 1 เม็ด และเก็บไว้ได้นาน 1 ปี เมื่อเก็บไว้ในตู้เย็น ในขณะที่เมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดยิปซัมจะเก็บไว้ได้นาน 8 เดือน ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดดินเหนียวจะเก็บไว้ได้นานเพียง 2 เดือน โดยปริมาณไรโซเบียมมากกว่า 1 x 10(4) เซลล์/เม็ด นอกจากนี้ การใช้ยิปซัมจะมีปริมาณไรโซเบียมต่อเม็ดมากกว่าการใช้ดินเหนียว ไม่ว่าเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องหรือเก็บในตู้เย็น เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดที่ผลิตได้ในสภาพกระถางพบว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดยิปซัมให้น้ำหนักเมล็ดไม่แตกต่างทางสถิติจากปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเหลวซึ่งให้น้ำหนักเมล็ดสูงที่สุด แต่แตกต่างทางสถิติจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดผงและชนิดเม็ดดินเหนียว การทดลองในสภาพไร่พบว่า ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเม็ดยิปซัมให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมรูปแบบอื่น