คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ทดสอบและขยายผลระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ทดสอบและขยายผลระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
อรุณี แท่งทอง, หฤทัย แก่นลา, ธัญมน สังข์ศิริ, สุชาดา ศรีบุญเรือง, สาลี่ ชินสถิต และสุรเดช ปัจฉิมกุล
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี

          ทดสอบและขยายผลระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ดำเนินการในแหล่งผลิตพืชผักของพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรร่วมดำเนินงานจังหวัดละ 10 ราย ในปี 2559 - 2560 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ตามมาตรฐาน มกษ. 9000 เล่ม1 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การผลิตพืชผักอินทรีย์ และจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น การดำเนินงานประกอบด้วย 2 กิจกรรม ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การทดสอบระบบการผลิตพืชผักหมุนเวียนและการทดสอบระบบการผลิตพืชผักแบบพืชแซมในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าการทดสอบระบบการผลิตพืชผักหมุนเวียน วิธีแนะนำปลูกมะระจีน - ถั่วพู - มะเขือเปราะ หมุนเวียนในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,334 1,481 และ 1,232 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งทั้งระบบ มีต้นทุนการผลิต 21,385 บาทต่อไร่ ได้ผลตอบแทน 33,083 บาทต่อไร่ และมีอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุน (BCR) เท่ากับ 2.5 โดยมีค่า BCR และได้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีเกษตรกรซึ่งปลูกมะระจีน - มะระจีน - มะระจีน ซ้ำในพื้นที่คิดเป็นเงิน 1,910 บาทต่อไร่ สำหรับการทดลองที่สองทดสอบระบบการผลิตพืชผักแบบพืชแซมในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยวิธีแนะนำปลูกมะเขือเทศร่วมกับดาวเรืองพบว่า วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศ และดาวเรือง 459 กิโลกรัมต่อไร่ และ 6,120 ดอกต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งทั้งระบบมีต้นทุนการผลิต 10,415 บาทต่อไร่ ได้ผลตอบแทน 18,535 บาทต่อไร่ และมีค่า BCR เท่ากับ 2.8 โดยมีค่า BCR และได้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศพืชเดียว 6,660 บาทต่อไร่ โดยทั้งสองการทดลองวิธีแนะนำมีการเข้าทำลายของโรคและแมลงน้อยกว่าวิธีเกษตรกร กิจกรรมที่ 2 สร้างศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลเทคโนโลยีระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์สู่แปลงเกษตรกร ผลการดำเนินงาน สร้างศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักอินทรีย์จำนวนสองพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ศพก.อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และศพก.อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้เผยแพร่องค์ความรู้โดยทำการผลิตสื่อวีดีทัศน์ จำนวน 3 เรื่อง และจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรทั้งหมด 10 ครั้ง จำนวนเกษตรกรเข้ารับการอบรมรวม 413 ราย รวมทั้งมีเกษตรกรร่วมดำเนินงานสร้างแปลงขยายผลผลิตพืชผักอินทรีย์ 53 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จำนวน 30 ราย และอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 5 ราย ซึ่งจากการประเมินผลความคิดเห็นของเกษตรกรที่ร่วมดำเนินงานต่อเทคโนโลยีที่ได้แนะนำในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ด้านต่างๆ พบว่าเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดไปใช้ได้จริงระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 80 รวมทั้งช่วยทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 47 รายคิดเป็นร้อยละ 89