คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มโอ
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มโอ
วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, ธัญพร งามงอน, ทวีป หลวงแก้ว, อนุรักษ์ สุขขารมย์ และจิตอาภา จิจุบาล

          การผลิตส้มโอเป็นการค้าในแหล่งปลูกต่างๆ ยังพบปัญหาด้านการควบคุมขนาดและรูปทรงของต้นส้มโอที่มีอายุมากราว 8 ปีขึ้นไป ให้มีความเหมาะสม จึงทำการศึกษาวิธีตัดแต่งเพื่อควบคุมขนาดและทรงพุ่มต้นส้มโอพันธุ์ทองดีอายุ 16 ปี ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ปรากฏว่าการวิธีตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งตาม GAP ส้มโอ (control) มีการใช้จ่ายของการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค และแมลงศัตรู และปุ๋ย กับส้มโอสูงสุดเท่ากับ 8,233 และ 8,488 บาทต่อไร่ต่อปี ในปี 2557 และปี 2558 ตามลำดับ ในขณะที่วิธีตัดแต่งกิ่งทุกยอดให้มีความสูงของต้น 2.5 เมตรเหนือโคนลำต้น มีค่าใช้จ่ายของใช้สารเคมีฯ ดังกล่าวต่ำสุด เท่ากับ 6,738 และ 7,445 บาทต่อไร่ต่อปี ในปี2557 และปี 2558 ตามลำดับ หลังจากได้รับวิธีต่างๆ ของการตัดแต่งเดือนมิถุนายน 2557 พบว่าต้นส้มโอออกดอกได้ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยต้นที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง ตาม GAP ส้มโอออกดอกได้สูงสุด เฉลี่ยเท่ากับ 76.7% และไม่แตกต่างกันทางสถิติกับการออกดอกของต้นที่ได้รับวิธีตัดแต่งกิ่งที่เจริญแนวตั้งส่วนกลางพุ่มสูง 3.5 และ 2.5 เมตรเหนือโคนลำต้น และตัดแต่งกิ่งด้านกว้างของพุ่มต้นให้มีช่องว่างระหว่างทรงพุ่ม 1 เมตร ซึ่งออกดอก เฉลี่ยเท่ากับ 73.4 และ 72.8% ตามลำดับ ต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งที่เจริญแนวตั้งส่วนกลางพุ่มสูง 3.5 เมตรเหนือโคนลำต้นและตัดแต่งกิ่งด้านกว้างของพุ่มต้นให้มีช่องว่างระหว่างทรงพุ่ม 1 เมตร ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 65.5 ผลต่อต้น วิธีการตัดแต่งกิ่งที่เจริญแนวตั้งส่วนกลางทรงพุ่มสูง 3.5 เมตรเหนือโคนลำต้นและตัดแต่งกิ่งด้านกว้างของทรงพุ่มต้นให้มีช่องว่างระหว่างทรงพุ่ม 1 เมตรเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับต้นส้มโอพันธุ์ทองดีที่มีอายุมาก

           ทำการศึกษาทดสอบเทคโนโลยีการควบคุมขนาดและทรงพุ่มต้นส้มโอสวนเก่าที่มีอายุมากในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยศึกษากับต้นส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง อายุ 12 ปีในแหล่งปลูกจังหวัดพิจิตร และส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา อายุ 12 ปีในแหล่งปลูกจังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มต้นเดือนเมษายน 2559 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2560 โดยทำการทดสอบวิธีตัดแต่งส่วนกิ่งที่เจริญแนวตั้งส่วนกลางทรงพุ่มสูง 3.5 เมตรเหนือโคนลำต้นและตัดแต่งกิ่งด้านกว้างของทรงพุ่มต้นให้มีช่องว่างระหว่างทรงพุ่ม 1 เมตร (กรรมวิธีที่ 1) เปรียบเทียบกับวิธีการตัดแต่งกิ่งของเกษตรกรตามแต่ละท้องถิ่น (วิธีเปรียบเทียบ) (กรรมวิธีที่ 2) และทำการตัดแต่งกิ่ง ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2559 ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์การออกดอกระหว่างต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 1 และ ต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งตามกรรมวิธีที่ 2 ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติทั้งเดือนพฤศจิกายน 2559 (นอกฤดู) และเดือนมกราคม 2560 (ในฤดู) ซึ่งพบทั้ง 2 พื้นที่ทดลองดังกล่าว ในพื้นที่ทดลองจังหวัดพิจิตร ผลผลิตรุ่นนอกฤดู (เดือนพฤษภาคม 2560) ของต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 1 และ ต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 2 เฉลี่ย 8.83 และ 8.16 ผลต่อต้น ตามลำดับ และต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 1 และต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 2 ให้ผลผลิตรุ่นในฤดู (เดือนสิงหาคม 2560) เฉลี่ย 22.8 และ 28.1 ผลต่อต้น ตามลำดับ ในพื้นที่ทดลองจังหวัดเพชรบูรณ์ ผลผลิตรุ่นนอกฤดู (เดือนพฤษภาคม 2560) ของต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 1 และ ต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 2 เฉลี่ย 25.4 และ 25.4 ผลต่อต้น ตามลำดับ นอกจากนี้ต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 1 และต้นส้มโอที่ได้รับการตัดแต่งตามกรรมวิธีที่ 2 ให้ผลผลิตรุ่นในฤดู (เดือนสิงหาคม 2560) เฉลี่ย 40.1 และ 43.1 ผลต่อต้น ตามลำดับ

          การผลิตส้มโอเป็นการค้าในแหล่งปลูกต่างๆ ปรากฏว่าผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวได้มีมากในช่วงฤดูกาลระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี มีผลให้ราคาต่ำ การควบคุมให้มีผลผลิตส้มโอได้นอกฤดูหรือในช่วงเวลาอื่นที่ตลาดมีความต้องการสูงเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร จึงทำการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีการผลิตส้มโอนอกฤดูเชิงการค้าโดยวิธีควั่นกิ่งต้นร่วมกับการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดินในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง แหล่งปลูก จังหวัดพิจิตร และส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา แหล่งปลูก จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 และเดือนกันยายน 2560 ประกอบด้วย 3 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 การใช้เทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับวิธีการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดิน ปริมาณ 1.0 กรัมเนื้อสารต่อทรงพุ่มกว้าง 1 เมตร ทุกปีๆละ 1 ครั้ง กรรมวิธีที่ 2 การใช้เทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้นร่วมกับวิธีการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดินปริมาณ 1.0 กรัมเนื้อสารต่อทรงพุ่มกว้าง 1 เมตร โดยใช้เทคนิคการควั่นและรัดกิ่งต้น ทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง ร่วมกับการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดินสลับปีเว้นปี (วิธีปรับใช้) ทำการให้กรรมวิธีที่ 1 และกรรมวิธีที่ 2 เดือนสิงหาคม 2559 และกรรมวิธีที่ 3 ไม่มีการบังคับการออกดอก (วิธีเปรียบเทียบ) ปรากฏว่าต้นส้มโอ มีการออกดอกและผลได้ 2 รุ่น โดยรุ่นก่อนฤดูมีการออกดอกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 และผลแก่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2560 และมีการออกดอกรุ่นในฤดูที่ตามมา เดือนมกราคม 2560 และผลแก่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน 2560 ทั้งเปอร์เซ็นต์การออกดอกนอกฤดูและในฤดูของต้นส้มโอที่ได้รับกรรมวิธีทั้ง 3 ได้นำแสดงผลไว้ในรายละเอียด รวมทั้งผลผลิตทั้งนอกฤดูและในฤดูของต้นส้มโอดังกล่าว