คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะเขือนำเข้าจากสาธารณรัฐอินเดีย
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะเขือนำเข้าจากสาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
วารีรัตน์ สมประทุม, ณัฏฐพร อุทัยมงคล, วาสนา ฤทธิ์ไธสง, ณัฐสุดา บรรเลงสวรรค์, ปรียพรรณ พงศาพิชณ์ และเกศสุดา สนศิริ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

          เมล็ดพันธุ์มะเขือจัดเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งการนำเข้าต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช โดยการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชนั้นดำเนินการตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าดวยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standards for Phytosanitary Measures; ISPM) ฉบับที่ 2 เรื่อง กรอบสำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และฉบับที่ 11 เรื่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับศัตรูพืชกักกัน ผลการสืบค้นข้อมูลศัตรูมะเขือที่มีรายงานในประเทศอินเดียและประเทศไทยพบ ศัตรูพืช 377 ชนิด เป็นศัตรูพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือจากประเทศอินเดียและ/หรือประเทศไทยได้จำนวน 67 ชนิด แบ่งเป็นแมลง 2 ชนิด แบคทีเรีย 2 ชนิด รา 32 ชนิด ไวรัส 10 ชนิด ไวรอยด์ 1 ชนิด และวัชพืช 20 ชนิด และพบว่าเป็นศัตรูมะเขือที่ไม่มีในไทยแต่มีในประเทศอินเดียและสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือที่นำเข้าได้ จำนวน 22 ชนิด จึงวิเคราะห์โอกาสการเข้ามา ตั้งรกรากอย่างถาวร แพร่ระบาดของศัตรูพืชและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นของศัตรูพืชทั้ง 22 ชนิด ซึ่งสามารถจัดระดับความเสี่ยงของศัตรูพืชได้ดังนี้ ศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ไวรัส 5 ชนิด คือ Alfalfa mosaic virus, Broad bean wilt virus, Tobacco ringspot virus, Tomato black ring virus และ Tomato ringspot virus ไวรอยด์ 1 ชนิด คือ Potato spindle tuber viroid ศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ แบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Pseudomonas syringae pv. aptata และ Pseudomonas syringae pv. tabaci รา 5 ชนิด คือ Boeremia exigua var. exigua, Didymella lycopersici, Phytophthora vignae, Pythium ultimum และ Verticillium albo-atrum ไวรัส 2 ชนิด คือ Pepino mosaic virus และ Tomato mosaic virus ศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ วัชพืช 7 ชนิด คือ Cirsium arvense, Emex australis, Orobanche aegyptiaca, Orobanche cernua, Orobanche ramose, Parthenium hysterophorus และ Solanum rostratum จึงกำหนดมาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชที่อาจจะติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือที่นำเข้าจากอินเดีย โดยกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืชก่อนการส่งออกเมล็ดพันธุ์มะเขือ เช่น เมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งปลอดศัตรูพืช (Pest free area) หรือแหล่งผลิตที่ปลอดศัตรูพืช (Pest free production site) เมล็ดพันธุ์ต้องมาจากต้นพ่อแม่ที่ผ่านการตรวจสอบในระยะการเจริญเติบโตว่าปลอดจากศัตรูพืชกักกัน เมล็ดพันธุ์ต้องผ่านการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่าปลอดจากศัตรูพืชกักกัน และเมล็ดพันธุ์ต้องคลุกด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูมะเขือของประเทศอินโดนีเซียพบว่ามีศัตรูพืชที่สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือจากประเทศอินโดนีเซียและ/หรือประเทศไทยได้จำนวน 47 ชนิด แบ่งเป็นแมลง 2 ชนิด แบคทีเรีย 1 ชนิด รา 27 ชนิด ไวรัส 3 ชนิด ไวรอยด์ 1ชนิด และวัชพืช 13 ชนิด จากการจัดกลุ่มศัตรูเมล็ดพันธุ์มะเขือพบว่ามีศัตรูพืชที่ไม่มีในประเทศไทยแต่มีในประเทศอินโดนีเซียและสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์มะเขือที่นำเข้าได้ 3 ชนิด แบ่งเป็นแบคทีเรีย 1 ชนิด ได้แก่ Pseudomonas syringae pv. tabaci ไวรัส 1 ชนิด ได้แก่ Tomato ringspot virus และไวรอยด์ 1 ชนิด ได้แก่ Potato spindle tuber viroid ซึ่งจะวิเคราะห์โอกาสการเข้ามา ตั้งรกรากอย่างถาวร แพร่ระบาดของศัตรูพืชและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นของศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ต่อไป