คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ชีววิทยาของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคใบจุดของกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่า
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ชีววิทยาของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคใบจุดของกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่า
ทิพวรรณ กันหาญาติ, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์, รุ่งนภา ทองเคร็ง และกาญจนา ศรีไม้
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ศึกษาชีววิทยาของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคใบจุดของกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 พบว่าเชื้อแบคทีเรียสามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส มีความต้านทานต่อสารปฏิชีวนะสเตร็ปโตมัยซินความเข้มข้น 5 ppm และมีความต้านทานต่อทองแดงความเข้มข้น 9,000 ppm การทดสอบชนิดกล้วยไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อพบว่า เชื้อแบคทีเรียสามารถทำให้เกิดโรคได้บนกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่าสายพันธุ์บางขุนเทียน คาลิปโซ่ จิตติ กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง แต่ไม่ทำให้เกิดโรคบนกล้วยไม้สกุลหวายและแคทลียา การทดสอบในพืชต่างชนิดที่มีรายงานการก่อให้เกิดโรคจากเชื้อสาเหตุพบว่า หอมหัวใหญ่ที่ทำการปลูกเชื้อด้วยวิธีการฉีดเชื้อสาเหตุเข้าสู่หัวหอมใหญ่ หลังจากปลูกเชื้อ 7 วัน เมื่อผ่าดูด้านในกาบของหัว (bulb scale) เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลการปลูกเชื้อสาเหตุในข้าวโพดด้วยวิธีการทาผงคาร์โบแรนดัมบนใบข้าวโพดก่อนแล้วพ่นเชื้อเชื้อสาเหตุพบว่าข้าวโพดแสดงอาการใบช้ำเป็นสีเขียวเข้มไม่สอดคล้องกับที่เคยมีรายงานอาการของโรคบนใบข้าวโพดมีลักษณะเป็นจุดสีขาว (necrotic lesions)