คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson
จรัญญา ปิ่นสุภา, ปรัชญา เอกฐิน และวิไล อินทรเจริญสุข
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ศึกษาชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson ชื่อไทยว่า บาหยา ซึ่งเป็นวัชพืชที่สำคัญในพืชปลูก ได้แก่ ไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด เป็นต้น การศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการหาแนวทางการควบคุมและป้องกันกำจัดที่เหมาะสมต่อไป ดำเนินการทดลอง ในเรือนทดลองและห้องปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยวัชพืช ในเดือนตุลาคม 2559 - ตุลาคม 2560 การศึกษาชีววิทยาของต้น บาหยา (Asystasia gangetica) ประกอบด้วยการศึกษาวงจรชีวิทยา การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์พบว่า บาหยา เป็นวัชพืชอายุข้ามปี สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งเมล็ดและลำต้น หลังจากเมล็ดงอกประมาณ 1 สัปดาห์ มีใบจริงเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม และมีการเจริญเติบโตทางด้านใบและลำต้นอย่างรวดเร็ว สร้างเมล็ดที่ระยะ 7 สัปดาห์หลังงอกและหลังจากดอกบาน 2 - 3 สัปดาห์ หรือเมล็ดสุกแก่ 9 - 10 สัปดาห์หลังงอก และในช่วง 15 สัปดาห์หลังงอก ต้นบาหยาติดผลมากที่สุด จากนั้นในช่วง 19 สัปดาห์หลังงอก การเจริญเติบโตลดลงทั้งทางด้านลำต้น ใบ การสร้างผลและเมล็ดลดลง การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดพบว่า เมล็ดอยู่บนผิวดิน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงถึง 92.8 เปอร์เซ็นต์ หากเมล็ดอยู่ในระดับความลึกของดิน 15 เซนติเมตร เมล็ดไม่สามารถงอกได้ เช่นเดียวกับส่วนของลำต้น