คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาชีววิทยาของโปรโตซัวที่เข้าทำลายระบบการเลี้ยงหนอนกระทู้ผักเพื่อผลิตไวรัส
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาชีววิทยาของโปรโตซัวที่เข้าทำลายระบบการเลี้ยงหนอนกระทู้ผักเพื่อผลิตไวรัส Nucleopolyhedrovirus และการควบคุม
ภัทรพร สรรพนุเคราะห์, อิศเรส เทียนทัด, สมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี และรัตนา นชะพงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          คัดเลือกหนอนกระทู้ผักที่ติดเชื้อโปรโตซัว โดยจะมีลำตัวสีซีดมาทำการปั่นเหวี่ยงที่ความเร็วรอบและเวลาต่างๆ จากนั้นทำ sucrose gradient centrifugation สามารถแยกเศษซากหนอน และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ได้ ทำให้เชื้อโปรโตซัวบริสุทธิ์ ทำปั่นเหวี่ยงที่ความเร็วรอบ 1,500 rpm 5 นาที และ 5,000 rpm 10 นาที ได้เชื้อโปรโตซัวมากที่สุด คือ 61.11 x 10(7) PIBs/ml การปั่นเหวี่ยงที่ความเร็วรอบ 1,500 rpm 5 นาที และ 5,000 rpm 20 นาที ได้เชื้อโปรโตซัวน้อยที่สุด คือ 38.75 x 10(7) PIBs/ml แต่กรรมวิธีอื่นๆ ไม่แตกต่างกันทางสถิติ การใช้ความเร็วรอบ 1,000 rpm 3 นาที และ 2,000 rpm 10 นาที จะเป็นกรรมวิธีที่ประหยัดและสิ้นเปลืองเวลาน้อยที่สุด การศึกษาปริมาณเชื้อโปรโตซัวที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหนอนกระทู้ผักวัยต่างๆ พบว่าหนอนกระทู้ผักวัย 2 ใช้เวลาการเจริญเติบโตในระยะหนอนก่อนเข้าดักแด้ประมาณ 15-19 วัน วัย 3 11-13 วัน วัย 4 7-12 วัน และวัย 5 ประมาณ 6 วัน ซึ่งในแต่ละวัยระยะเวลาในการเจริญเติบโตของหนอนกระทู้ผักไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ส่วนน้ำหนักดักแด้เฉลี่ยของหนอนทุกวัยอยู่ที่ 0.2186 – 0.3600 กรัม ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติเช่นกัน ส่วนรุ่นลูกพบว่า หนอนวัย 2 (F1) ใช้เวลาการเจริญเติบโตในระยะหนอนก่อนเข้าดักแด้ประมาณ 8-16 วัน วัย 3 (F1) 13-16 วัน วัย 4 (F1) 10-13 วัน และวัย 5 (F1) ประมาณ 11-13 วัน ซึ่งในแต่ละวัยระยะเวลาในการเจริญเติบโตของหนอนกระทู้ผักระหว่างวัยไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ส่วนน้ำหนักดักแด้เฉลี่ยของหนอนทุกวัยอยู่ที่ 0.3069 – 0.3968 กรัม ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติเช่นเดียวกัน ส่วนหนอนกระทู้ผักวัย 2 ที่กินเชื้อโปรโตซัวความเข้มข้น 1 x 10(8) และ 1 x 10(8) (cell/ml) ไม่สามารถเพาะเลี้ยงรุ่นลูก (F1) ได้ จากการตรวจสอบเชื้อโปรโตซัวจากมูลหนอนพบเชื้อโปรโตซัวในปริมาณน้อยมาก และหนอนที่ได้รับเชื้อโปรโตซัวสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับหนอนปกติ แต่ลำตัวจะมีสีซีดกว่าปกติ และควรทำการศึกษาผลของโปรโตซัวต่อหนอนในรุ่นต่อๆ ไป และศึกษาวิธีควบคุมเชื้อโปรโตซัวในการเพาะเลี้ยงหนอนกระทู้ผักเพื่อผลิตไวรัสเอ็นพีวี