คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny)
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny)
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสำรวจความอ่อนแอต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (Thrips palmi Karny) ที่ทำลายกล้วยไม้ส่งออกมีความสำคัญในการเฝ้าระวังปัญหาความต้านทาน ดังนั้นจึงทำการสำรวจเพื่อทราบความอ่อนแอต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายในสวนกล้วยไม้ส่งออกจากแหล่งปลูกที่สำคัญ ทำการทดลองโดยให้เพลี้ยไฟฝ้ายดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วยสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำแล้วบันทึกผลการตาย ผลการทดลองในปี 2554 พบว่าเพลี้ยไฟฝ้ายจากอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีความอ่อนแอน้อยต่อสารฆ่าแมลง spiromesifen, fipronil, clothianidin และ imidacloprid เนื่องจากมีการตายน้อยกว่า 50% เพลี้ยไฟฝ้ายจากอำเภอนครชัยศรี (สวนที่ 1) จังหวัดนครปฐม มีความอ่อนแอน้อยต่อสารฆ่าแมลง spiromesifen, clothianidin และ imidacloprid ส่วนในปี 2555 พบว่าเพลี้ยไฟฝ้ายจากอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีความอ่อนแอน้อยต่อสารฆ่าแมลง abamectin และ spiromesifen เพลี้ยไฟฝ้ายจากอำเภอนครชัยศรี (สวนที่ 2) จังหวัดนครปฐม มีความอ่อนแอน้อยต่อสารฆ่าแมลง abamectin และ acetamiprid ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงดังกล่าวและใช้สารฆ่าแมลงที่ถูกทดสอบแล้วว่าเพลี้ยไฟฝ้ายมีความอ่อนแอมากชนิดอื่นๆ ในการพ่นสารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาความต้านทานของเพลี้ยไฟฝ้ายในสวนกล้วยไม้ส่งออก