คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์, ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์, อานนท์ สายคำฟู, อัคคพล เสนาณรงค์, พงษ์ศักดิ์ ต่ายก้อนทอง และขนิษฐ์ หว่านณรงค์
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร

          จากการที่เกษตรกรต้องการทิ้งใบอ้อยคลุมแปลงแต่ต้องการใบขนาดสั้น เพื่อให้สามารถใช้เครื่องหยอดปุ๋ยได้ง่ายโดยไม่ติดขัดกับตัวเปิดร่องปุ๋ย สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้ออกแบบ เครื่องสับใบอ้อย โดยออกแบบให้พ่วงต่อรถแทรกเตอร์แบบพ่วงต่อแบบ 3 จุด ชุดหัวเกียร์อัตราทด 1.46:1 ถ่ายทอดกำลังจากเพลาถ่ายทอดกำลังรถแทรกเตอร์ ส่งกำลังผ่านเฟืองโซ่ไปหมุนเพลาใบมีด 2 ชุดบนล่าง หมุนสวนทางกัน ซึ่งใช้หลักการถ่ายทอดกำลังโดยใช้โซ่ขับแบบหลักการถ่ายทอดกำลังแบบ rack and pinion แล้วประยุกต์ให้มุมสัมผัสของโซ่มีค่าโดยประมาณ 120 องศา และยังใช้วิธีการวางตำแหน่งของเพลาของเฟืองตาม (pinion) ให้สามารถหมุนตามหรือหมุนทวนเฟืองขับ (driver) ได้ ซึ่งเป็นการลดความซับซ้อนของระบบ และเป็นการประยุกต์ให้เพลาของเฟืองตามหมุนกลับทิศกับเฟืองขับโดยใช้ระบบโซ่ได้ โดยเพลาใบมีดล่างหมุนด้วยความเร็วประมาณ 370 รอบ/นาที เพลาใบมีดบนหมุนด้วยความเร็วประมาณ 630 รอบ/นาที ใบมีดชุดล่างประกอบด้วยใบมีด 4 ชุด ชุดละ 13 ฟัน ใบมีดชุดบนประกอบด้วยจาน 14 จาน แต่ละจานติดใบมีดสามเหลี่ยมจำนวน 4 ใบ หน้ากว้างในการทำงาน 0.625 เมตร ผลการทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อใช้แทรกเตอร์ 24 แรงม้า ความยาวใบอ้อยก่อนทำงานมีค่าเฉลี่ย 1.13 เมตร หลังการใช้เครื่องสับใบอ้อยแล้วความยาวใบอ้อยเฉลี่ย 0.24 เมตร ความสามารถในการทำงาน 1.34 ไร่/ชม. อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 1.95 ลิตร/ไร่ ความหนาใบอ้อย 0.06 เมตร ที่ความชื้นดิน 10.7 เปอร์เซ็นต์ (มาตรฐานแห้ง) ส่วนใบอ้อยแห้งกรอบมากไม่สามารถวัดความชื้นได้ กำลังที่ใช้ในการสับใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาด 24 แรงม้า 4.43 กิโลวัตต์/เมตร