คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: เทคโนโลยีการผลิตขยายและการใช้แตนเบียน Encarsia sp. เพื่อควบคุมแมลงหวี่ขาว
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
เทคโนโลยีการผลิตขยายและการใช้แตนเบียน Encarsia sp. เพื่อควบคุมแมลงหวี่ขาว
รจนา ไวยเจริญ, อัมพร วิโนทัย และประภัสสร เชยคำแหง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          เพื่อได้เทคโนโลยีการผลิตและการใช้แตนเบียน Encarsia sp. ได้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมแมลงหวี่ขาวจากแปลงปลูกมันสำปะหลังและจากวัชพืชบริเวณรอบแปลง และจากต้นฝรั่ง น้อยหน่า พริก และกล้วย ที่อำเภอเมือง และศรีราชา จังหวัดชลบุรี และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างตุลาคม 2553 – กันยายน 2554 ผลการทดลองพบว่า สามารถจำแนกแมลงหวี่ขาวที่พบบนมันสำปะหลังได้ 2 ชนิด พบว่าเป็นแมลงหวี่ขาวใยเกลียว; Aleurodicus disperses Russell และแมลงหวี่ขาวยาสูบ; Bemisia tabaci (Gennadius) พบแตนเบียนแมลงหวี่ขาว จำนวน 2 ชนิด จากการจำแนกเบื้องต้นพบว่า เป็นแตนเบียนสกุล Encarsia ทั้ง 2 ชนิด ทำการศึกษาชีววิทยาของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวบนต้นมันสำปะหลังเบื้องต้นพบว่า มีวงจรชีวิต 24-28 วัน ไข่มีอายุ 3-4 วัน ตัวอ่อนมี 3 วัย วัย 1-3 มีอายุ 3, 5-7 และ 6-7 วัน ตามลำดับ และดักแด้มีอายุ 7-9 วัน จากการศึกษาพฤติกรรมของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวพบว่า ตัวเต็มวัยจะวางไข่บริเวณใต้ใบมันสำปะหลัง ตัวอ่อนวัย 1 ที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะเดินไปมาบนใบมันสำปะหลัง เมื่อลอกคราบเป็นวัย 2 ลำตัวจะค่อยๆ แบนลง และจะเกาะอยู่กับที่และเริ่มสร้างเส้นใยสีขาวรอบๆ ตัว ตัวอ่อนวัยที่ 3 จะสร้างไขสีขาวเพิ่มขึ้นและลอกคราบเข้าดักแด้อยู่บนใบมันสำปะหลัง จากการตรวจผลการเบียนพบแตนเบียนสกุล Encarsia ออกจากตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวที่เก็บจากแปลงมันสำปะหลังเฉพาะตัวอ่อนแมลงหวี่ขาววัยที่ 3 โดยมีอัตราการเบียน 8.01-44.88% ส่วนตัวอ่อนแมลงหวี่ขาววัย 1 และ 2 ยังไม่พบการเบียน