คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2552 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=27)
+--- เรื่อง: การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย (/showthread.php?tid=1740)



การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย - doa - 08-08-2016

การจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย
อมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล และพจนา ตระกูลสุขรัตน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่

          ศึกษาการจัดการโรคราน้ำฝนของลำไย โดยการตัดแต่งกิ่งอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl และ/หรือการใช้น้ำส้มควันไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำการทดลองระหว่างเดือน ตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2552 ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำผลการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้ และสารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl จากห้องปฏิบัติการมาใช้ในสภาพสวน คัดเลือกใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช metalaxyl ความเข้มข้น 500 ppm. และอัตราน้ำส้มควันไม้ : น้ำ = 1 : 5 ทำการทดลองในสวนลำไยของเกษตรกรที่ ต.สบเมิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสวนที่มีประวัติการแพร่ระบาดโรคราน้ำฝน โดยเลือกต้นลำไยที่มีอายุและขนาดต้นใกล้เคียงกันจำนวน 56 ต้น วางแผนการทดลองแบบ RCB การทดลองมี 8 กรรมวิธี (Treatment) กรรมวิธีละ 7 ซ้ำ (Replication) โดยกรรมวิธีเปรียบเทียบ คือ การตัดแต่งกิ่งตามวิธีเกษตรกรและไม่พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช และกรรมวิธีการตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำ และไม่พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช พบการระบาดของโรคราน้ำฝนสาเหตุจากรา Phytophthora mirabilis ทำให้ลำไยที่กำลังแตกยอดใหม่แสดงอาการยอดไหม้และใบอ่อนไหม้ และหากเป็นช่วงกำลังให้ผลผลิตจะทำให้เกิดโรคผลเน่า

          ผลการเป็นโรคราน้ำฝนในแปลงทดลอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 - เดือนกันยายน 2551 พบว่า กรรมวิธีที่ 5 (ตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำ พ่นสารเคมี metalaxyl 2 ครั้ง) มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคราน้ำฝนต่ำสุด คือ 5.63 % ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % โดยวิธี DMRT จากกรรมวิธีที่ 1 กรรมวิธีที่ 2 กรรมวิธีที่ 3 กรรมวิธีที่ 4 และกรรมวิธีที่ 6 แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากกรรมวิธีที่ 7 และกรรมวิธีที่ 8 ส่วนกรรมวิธีที่มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคราน้ำฝนสูงสุด คือ กรรมวิธีที่ 1 คือ ตัดแต่งกิ่งตามวิธีเกษตรกรและไม่พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคราน้ำฝน 23.13 % รองลงมาคือ กรรมวิธีที่ 2 (ตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำและไม่พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช) มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคราน้ำฝน 23.00 %

          ผลการทดลอง ปีที่สองระหว่างเดือนตุลาคม 2551 - เดือนกันยายน 2552 พบว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการทดลองปีที่ผ่านมา คือ กรรมวิธีตัดแต่งกิ่งลำไยตามคำแนะนำ (ตัดแต่งใหญ่หลังการเก็บเกี่ยวและตัดแต่งทรงพุ่มโปร่ง 2 ครั้ง) ให้ผลในการควบคุมโรคราน้ำฝนดีที่สุด ส่วนกรรมวิธีตัดแต่งกิ่งลำไยตามวิธีเกษตรกรแล้วพ่นน้ำส้มควันไม้ 1 ครั้ง ให้ผลในการควบคุมโรคราน้ำฝนน้อยที่สุด ในปีนี้เกษตรกรทำลำไยนอกฤดู เพื่อให้ออกผลผลิตประมาณปลายปีจึงไม่มีผลผลิตในฤดู ไม่มีการตัดแต่งกิ่งลำไยทดลองตามที่กำหนด จึงยังไม่มีการพ่นสารเคมีในการควบคุมโรคราน้ำฝน และยังไม่พบการระบาดของโรค จะตัดแต่งกิ่งลำไยทดลองตามที่กำหนด และพ่นสารเคมีในการควบคุมโรคราน้ำฝน ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนมกราคม ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อเนื่องปีที่สาม