คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การทดสอบประสิทธิภาพของก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง N. nambi (Speg.) ต่อการควบคุมไส้เดือนฝอย - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: การทดสอบประสิทธิภาพของก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง N. nambi (Speg.) ต่อการควบคุมไส้เดือนฝอย (/showthread.php?tid=2528)



การทดสอบประสิทธิภาพของก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง N. nambi (Speg.) ต่อการควบคุมไส้เดือนฝอย - doa - 01-17-2019

การทดสอบประสิทธิภาพของก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi (Speg.) ต่อการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood ในมันฝรั่ง
สุรีย์พร บัวอาจ, บุษราคัม อุดมศักดิ์, ไตรเดช ข่ายทอง, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล และวราภรณ์ อุดมด์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2

          โรครากปมที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood เป็นโรคที่มีความสำคัญทำความเสียหายกับพืชในวงศ์ Solanaceae เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในมันฝรั่ง ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีวิธีแก้ไขรวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการควบคุม ดังนั้นการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ การวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ต่อการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในมันฝรั่ง โดยดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 ณ สถานีทดลองพืชสวนพบพระ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก วางแผนการทดลอง RCB 7 กรรมวิธี 4 ซ้ำ เมื่อมันฝรั่งอายุ 90 วัน เก็บหัวมันฝรั่ง จำนวน 24 ต้น จาก 2 แถวกลางของแต่ละแปลงทดลอง เพื่อวัดเปอร์เซ็นต์หัวมันฝรั่งที่ถูกการเข้าทำลาย เปอร์เซ็นต์หัวหูด และน้ำหนักหัวมันฝรั่ง พบว่าทุกกรรมวิธีที่ใช้เชื้อเห็ดเรืองแสง รองก้นหลุมก่อนปลูก มีประสิทธิภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมและลดการเกิดหูดได้ดี โดยเฉพาะกรรมวิธีที่ใช้เห็ดเรืองแสง อัตรา 40 และ 45 กรัม/ต้น พบเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลาย เพียง 1.0 และ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เกิดหัวหูดเพียง 1.08 และ 0.54 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับกรรมวิธีเปรียบเทียบที่ไม่ได้ใช้เชื้อเห็ดเรืองแสง โดยพบมันฝรั่งถูกการเข้าทำลายถึง 67.33 เปอร์เซ็นต์ และเกิดหัวหูด 28.63 เปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำหนักหัวมันฝรั่งพบว่า กรรมวิธีใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง ในอัตรา 45 กรัม/ต้น ส่งผลให้น้ำหนักหัวมันฝรั่งดีที่สุด คือ 16 กิโลกรัม/แปลงย่อย ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P<0.01) กับการใช้เห็ดเรืองแสง อัตรา 40 กรัม/ต้น (15.53 กิโลกรัม/แปลงย่อย) แต่แตกต่างกันทางสถิติ (P<0.01) กับกรรมวิธีเปรียบเทียบ โดยพบมันฝรั่งมีน้ำหนักเพียง 6.7 กิโลกรัม/แปลงย่อย