คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ทดสอบศักยภาพของน้ำนมเจือจางในการควบคุมโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: ทดสอบศักยภาพของน้ำนมเจือจางในการควบคุมโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง (/showthread.php?tid=2636)



ทดสอบศักยภาพของน้ำนมเจือจางในการควบคุมโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง - doa - 04-22-2019

ทดสอบศักยภาพของน้ำนมเจือจางในการควบคุมโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง สาเหตุจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis
บุษราคัม อุดมศักดิ์, สุรีย์พร บัวอาจ และรสสุคนธ์ รุ่งแจ้ง
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

   โรคราน้ำค้าง สาเหตุจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis เป็นโรคที่สำคัญ ทำความเสียหายให้แก่พืชตระกูลแตงหลายชนิด การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคนี้เป็นเวลานานมักก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยา จึงได้ทำการทดสอบศักยภาพของน้ำนม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ในการควบคุมโรคดังกล่าว ตามกรรมวิธีต่างๆ คือ พ่นด้วยนมโคสดแท้ชนิด 100 % ไขมัน 0 % นมโคสดแท้ชนิด100% ไขมัน 42% และน้ำนมถั่วเหลือง 100% ที่ 3 ความเข้มข้น คือ อัตรา 2 3 และ 4 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (คิดเป็นสารละลายความเข้มข้นเท่ากับ 10, 15 และ 20% โดยปริมาตร ตามลำดับ) เปรียบเทียบกับการพ่นสาร mancozeb 80% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และการพ่นด้วยน้ำเปล่า ทำการทดสอบในแปลงปลูกแตงกวาของเกษตรกร อ. ท่าม่วง และอ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ทุก 5 วัน รวม 3 ครั้ง ผลการทดลอง พบว่าที่ อ. ท่าม่วง หลังการพ่น 3 ครั้ง กรรมวิธีที่พ่นด้วยสารละลายน้ำนมถั่วเหลือง อัตรา 3 และ 4 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคราน้ำค้างได้ดีที่สุดโดยมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคราน้ำค้างเท่ากับ 21.62 และ 24.14 ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีที่พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา mancozeb 80% WP ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเท่ากับ 13.38 เช่นเดียวกับแปลง ที่อ.ท่ามะกา พบว่ากรรมวิธีที่พ่นด้วยน้ำนมถั่วเหลืองอัตรา 3 และ 4 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเท่ากับ 33.24 และ 37.38 ตามลำดับ และไม่แตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีที่พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา mancozeb ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเท่ากับ 33.27 และพบว่า ทั้งสองแปลงทดลอง ทุกกรรมวิธีที่พ่นสารฯ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคราน้ำค้างต่ำกว่ากรรมวิธีที่พ่นด้วยน้ำเปล่า ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเท่ากับ 66.40 และ 60.24 ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ