คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานในพื้นที่แปลงใหญ่ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานในพื้นที่แปลงใหญ่ (/showthread.php?tid=2637)



การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานในพื้นที่แปลงใหญ่ - doa - 05-29-2019

การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานในพื้นที่แปลงใหญ่
อัมพร วิโนทัย, พัชรีวรรณ จงจิตเมตต์, วลัยพร ศะศิประภา, สุวัฒน์ พูลพาน, สุเทพ สหายา, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, สุนี ศรีสิงห์, อุดม วงศ์ชนะภัย, นรีรัตน์ ชูช่วย, พัชราพร หนูวิสัย, ประภาพร ฉันทานุมัติ, ดารากร เผ่าชู, ยิ่งนิยม ริยาพันธ์, ไพบูรณ์ เปรียบยิ่ง, ปิยนุช นาคะ, วีรา คล้ายพุก, หยกทิพย์ สุดารีย์, ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง และโกมินทร์ วิโรจน์วัฒนกุล
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร, ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, สถาบันวิจัยพืชสวน, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และกองแผนงานและวิชาการ

          แมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญที่ทำความเสียหายในพื้นที่ปลูกมะพร้าวอำเภอเกาะสมุย มี 4 ชนิด ได้แก่ แมลงดำหนามมะพร้าว หนอนหัวดำมะพร้าว ด้วงแรดมะพร้าว และด้วงงวงมะพร้าว โครงการวิจัยนี้ได้เลือกใช้วิธีการควบคุมแบบต่างๆ ที่เหมาะสมมาผสมผสานใช้ด้วยกัน โดยความร่วมมือกันระหว่าง 12 หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร เกาะสมุยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 68,000 ไร่ อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 33 กม. ทำให้เหมาะกับการศึกษาประชากรของแมลงศัตรูมะพร้าวได้ดี ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ถึงเดือนมกราคม 2558 ผลการดำเนินงานของโครงการฯ สรุปได้ดังนี้คือ สำรวจประเมินพื้นที่และระดับความรุนแรงของการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวแต่ละชนิดแล้วนำข้อมูลมาประมวลจัดทำแผนที่เพื่อใช้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน

          ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงแตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว Asecodes hispinarum แตนเบียนดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว Tetrastichus brontispae จำนวน 6 ศูนย์ และแตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าว Goniozus nephantidis จำนวน 7 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ทั้งหมดนี้สามารถเพาะเลี้ยงและปล่อยแตนเบียนทั้ง 3 ชนิด ได้จำนวน 247,521 มัมมี่ 330,823 มัมมี่ และ 703,767 ตัว ตามลำดับ ส่วนด้านการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวโดยวิธีฉีดสารเคมีเข้าลำต้นด้วยสาร emamectin benzoate 1.92% EC จำนวน 3,422 ต้นนั้น พบอัตราการตาย 70-100% หลังการใช้สาร 30 วัน จนถึง 90 วัน และ 30% หลังการใช้สาร 1 ปี

          การควบคุมด้วงแรดมะพร้าวโดยใช้กับดักฟีโรโมนจำนวน 200 กับดัก สามารถดักจับได้ด้วงแรดมะพร้าวเพศเมีย 7,977 ตัว เพศผู้ 7,391 ตัว ระหว่างเดือนมีนาคม 2556 ถึงตุลาคม 2557 ส่วนการควบคุมตัวอ่อนด้วงแรดมะพร้าวโดยใช้ราเขียว Metarhizium anisopliae ด้วยกองกับดักขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร จำนวน 52 กอง สามารถทำให้หนอนด้วงแรดมะพร้าวติดเชื้อได้ 90.9 - 100% สามารถลดจำนวนด้วงแรดมะพร้าวไปได้จำนวนทั้งสิ้น 8,475 ตัว ระหว่างเดือนมิถุนายน 2556 ถึงเดือนธันวาคม 2557

          การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทุก 2 เดือน และหลังดำเนินการ พบว่าการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวลดความรุนแรงลงจากพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง 5,814 ไร่ เป็น 448 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 92 พื้นที่ที่แมลงดำหนามมะพร้าวระบาดรุนแรงลดลงจาก 4,882 ไร่ เป็น 823 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 83 สำหรับด้วงแรดมะพร้าวสำรวจครั้งสุดท้ายไม่พบพื้นที่ระบาดรุนแรง โดยลดลงจาก 239 ไร่ แต่กลับพบพื้นที่ด้วงงวงมะพร้าวระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 2,438 ไร่ เป็น 8,663 ไร่

          การอบรม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ผลงานของโครงการ ทำการจัดอบรมเกษตรกร ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่โรงแรม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครเกาะสมุย เรื่องการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าวในเกาะสมุย จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 221 คน เรื่องการเพาะเลี้ยงและใช้แตนเบียนโกนิโอซัส นีแฟนติดิส เพื่อควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 98 คน และการทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศจากขยะอินทรีย์และมูลช้าง จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 221 คน จัดทำเอกสารเผยแพร่ผลงาน 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวในเกาะสมุย การเพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากแตนเบียนโกนิโอซัส นีแฟนติดีส (Goniozus nephantidis) การใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมและกับดักฟีโรโมนในการควบคุมด้วงแรดมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน