คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การศึกษาชนิดของศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2555 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=5)
+--- เรื่อง: การศึกษาชนิดของศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ (/showthread.php?tid=540)



การศึกษาชนิดของศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ - doa - 12-01-2015

การศึกษาชนิดของศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ
ปรียพรรณ พงศาพิชณ์, วันเพ็ญ ศรีชาติ และวานิช คำพานิช
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ในปี 2554 และ2555 ประเทศไทยนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ 4,445 ตัน และ 4,189 ตันตามลำดับ การตรวจสอบเชื้อโรคศัตรูพืชมีขั้นตอนการดำเนินการ 2 ขั้นตอนคือ ตรวจสอบหัวพันธุ์ที่นำเข้า และการติดตามตรวจสอบในแปลงปลูก ผลจากการสุ่มตรวจเบื้องต้นที่ด่านนำเข้าครั้งละ 600 หัว และสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจขั้นละเอียด ในห้องปฏิบัติการจำนวน 300 หัว หัวพันธุ์ที่นำเข้าในปี 2554 ตรวจพบศัตรูพืชกักกัน (quarantine pest) 1 ชนิด คือ Spongospora subterranea ในหัวพันธุ์จากสกอตแลนด์ จำนวน 8 ครั้ง ปริมาณ 557 ตัน ซึ่งพบว่า เกินเงื่อนไขที่กำหนดและได้ดำเนินมาตรการปฏิเสธการนำเข้า 4 ครั้ง ปริมาณ 147 ตัน ตรวจพบเชื้อที่ไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันแต่ต้องมีมาตรการควบคุมคือ Potato virus Y ในหัวพันธุ์จากออสเตรเลีย 5 ครั้ง ปริมาณ 611 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเกินเงื่อนไขที่กำหนดและได้ดำเนินมาตรการเผ่าทำลาย 1 ครั้ง นอกจากนี้ตรวจพบโรคที่มีรายงานแล้วในประเทศไทยคือ common scab (Streptomyces sp.) กับหัวพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้าจากสกอตแลนด์ 2 ครั้ง และจากเนเธอร์แลนด์ 1 ครั้ง และโรค black scurf (Rhizoctonia solani ) กับหัวพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้าจาก สกอตแลนด์ 2 ครั้ง ในปี 2555 ตรวจพบ Spongospora subterranea ในหัวพันธุ์จากสกอตแลนด์ จำนวน 5 ครั้ง ปริมาณ 281 ตัน ซึ่งพบว่า เกินเงื่อนไขที่กำหนดและได้ดำเนินมาตรการปฏิเสธการนำเข้า 117 ตัน

          ผลการติดตามตรวจสอบในแปลงปลูกโรคที่พบทั่วไปในระยะแรก โรคใบไหม้ (late blight) โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย โรคใบจุดสีน้ำตาล (early blight) นอกจากนี้ยังตรวจพบ PVY ซึ่งติดมากับหัวพันธุ์และแพร่กระจายในแปลงปลูก นอกจากนี้ ยังตรวจพบเชื้อไวรัสในสกุล Tospovirus ซึ่งสามารถจำแนกชนิดได้คือ Capsicum chlorosis virus (CaCV) ส่วนโรคที่พบมากกับหัวมันฝรั่งในระยะเก็บเกี่ยวคือ โรคหัวเน่าสีน้ำตาล (brown rot) และโรคเน่าเละ (soft rot) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนอาการหัวหูดที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม พบระบาดมากในมันฝรั่งที่ปลูกในฤดูฝนที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก