วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
#1
วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
อรุณี แท่งทอง, ธัญมน สังข์ศิริ, สุชาดา ศรีบุญเรือง, สาลี่ ชินสถิต, หฤทัย แก่นลา, อุมาพร รักษาพราหมณ์ และขนิษฐา วงษ์นิกร

          การผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกพบว่า เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงบำรุงดิน ระบบการปลูกพืช และการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู ดังนั้นจึงดำเนินการศึกษา และทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชผักอินทรีย์ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเปรียบเทียบกับวิธีการที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม โดยมีการดำเนินงานโครงการ ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักในระบบเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 3 การทดลอง ดังนี้ 

          การทดลองที่ 1 การศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะระจีนในระบบเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ จ.จันทบุรี ดำเนินการศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะระจีน พบว่า อัตราการใส่ปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะระจีน คือ 1,630 กก./ไร่ เมื่อดินในแปลงปลูกมีค่าอินทรียวัตถุ 1-3 % เมื่อนำไปทดสอบเปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรพบว่า ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 10,028 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,606 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 36,696.6 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 32,441.6 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 25,624.6 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 21,827.6 บาท/ไร่ ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการใช้อัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะระจีนในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย พบว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,776 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ย 30,423 บาท/ไร่ และผลตอบแทนเฉลี่ย 19,656 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 2 การศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศในระบบเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ จ.จันทบุรี ดำเนินการศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ พบว่า อัตราการใส่ปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ คือ 2,000 กก./ไร่ เมื่อดินในแปลงปลูกมีค่าอินทรียวัตถุ 1-3 % เมื่อนำไปทดสอบเปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรพบว่า ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 10,600 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 8,600 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 23,450บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 17,320 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 12,850 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 8,720 บาท/ไร่ ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการใช้อัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,110 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ย 20,366 บาท/ไร่ และผลตอบแทนเฉลี่ย 15,256 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 3 การศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือยาวในระบบเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ จ.จันทบุรี ดำเนินการศึกษาอัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ พบว่า อัตราการใส่ปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ คือ 2,000 กก./ไร่ เมื่อดินในแปลงปลูกมีค่าอินทรียวัตถุ 1-3 % เมื่อนำไปทดสอบเปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกร พบว่า ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 11,732 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,844 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 15,064 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 14,140 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 3,485 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 3,296 บาท/ไร่ ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการใช้อัตราปุ๋ยหมักที่เหมาะสมสำหรับมะเขือยาวในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,133 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ย 18,596 บาท/ไร่ และผลตอบแทนเฉลี่ย 8,463 บาท/ไร่

กิจกรรมที่ 2 วิจัยและพัฒนาระบบการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 การทดลอง ดังนี้

          การทดลองที่ 1 การทดสอบระบบการปลูกพืชหมุนเวียนในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.จันทบุรี พบว่าปี 2559 เกษตรกร 3 ราย ดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วฝักยาว-มะเขือเปราะ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกร ปลูกถั่วฝักยาวซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบการผลิต พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน ถั่วฝักยาว และมะเขือเปราะเท่ากับ 2,250 กก./ไร่ 1,183.3 กก./ไร่ และ 1,096 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยถั่วฝักยาวทั้งสามรอบการผลิตเท่ากับ 1,330 กก./ไร่ 1,673.3 กก./ไร่ และ 1,315 กก./ไร่ และเกษตรกร 2 รายดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วพู-พริก เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรปลูกมะระจีนซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน ถั่วพู และพริกเท่ากับ 1,456 กก./ไร่ 1,325 กก./ไร่ และ 1,275 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตมะระจีนทั้งสามรอบการผลิตเท่ากับ 1,385 กก./ไร่ 1,982.5 กก./ไร่ และ 1,847.5 กก./ไร่ พบว่าต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 18,618 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 18,881 บาท/ไร่/ปี รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 66,665 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 56,078 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 48,047 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 37,197 บาท/ไร่/ปี ปี 2560 เกษตรกรรายที่ 1 ดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วพู-มะเขือเปราะ เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ปลูกถั่วพูซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบการผลิต พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิต มะระจีน ถั่วพู และมะเขือเปราะเท่ากับ 1,880 กก./ไร่ 2,800 กก./ไร่ และ 780 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตถัวพูทั้ง 3 รอบการผลิตเท่ากับ 2,940 กก./ไร่ 2,750 กก./ไร่ และ 2,590 กก./ไร่ ตามลำดับ เกษตรกรรายที่ 2 ดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วฝักยาว- มะเขือเปราะ เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกรปลูกถั่วฝักยาวซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบการผลิต พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิต มะระจีน ถั่วฝักยาว และมะเขือเปราะเท่ากับ 1,360 กก./ไร่ 1,650 กก./ไร่ และ 900 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตถัวฝักยาวทั้ง 3 รอบการผลิตเท่ากับ 1,310 กก./ ไร่ 1,650 กก./ไร่ และ 1,200 กก./ไร่ ตามลำดับ เกษตรกรรายที่ 3 ดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วพู-มะเขือเปราะ เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกรปลูกถั่วฝักยาวซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบ การผลิต พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิต มะระจีน ถั่วพู และมะเขือเปราะเท่ากับ 1,350 กก./ไร่ 1,980 กก./ไร่ และ 1,230 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตถั่วฝักยาวทั้ง 3 รอบการผลิต เท่ากับ 1,290 กก./ไร่ 1,600 กก./ไร่ และ 1,265 กก./ไร่ ตามลำดับ และเกษตรกร 2 ราย ดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วพู-พริก เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกรปลูกถั่วพูซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบการผลิต พบว่า กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ย มะระจีน ถั่วพู และมะเขือเปราะเท่ากับ 1,560 กก./ไร่ 2,710 กก./ไร่ และ 1,390 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตถั่วฝักยาวเฉลี่ยทั้ง 3 รอบการผลิตเท่ากับ 2,585 กก./ไร่ 2,417.5 กก./ไร่ และ 2,370 กก./ไร่ ตามลำดับ ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 16,452 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 15,712 บาท/ไร่/ปี รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 58,652 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 52,532 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 42,206 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 26,936 บาท/ไร่/ปี ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการผลิตพืชผักระบบหมุนเวียนในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย แปลงต้นแบบเกษตรกรปลูกมะระจีน-ถั่วพู-มะเขือเปราะ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน 1,266 กก./ไร่ ถั่วพู 2,463 กก./ไร่ และ มะเขือเปราะ 1,306 กก./ไร่ ตามลำดับ มีต้นทุนเฉลี่ย 18,600 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 47,500 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 28,900 บาท/ไร่

           การทดลองที่ 2 การทดสอบระบบการปลูกพืชหมุนเวียนในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือกรรมวิธีแนะนำ มะระจีน-ถั่วฝักยาว-มะเขือเปราะ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกร ปลูกมะเขือเปราะซ้ำลงในพื้นที่แปลงปลูกเดิม 3 รอบการผลิต พบว่า ปี 2559 กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน ถั่วฝักยาว และมะเขือเปราะเท่ากับ 2,116 กก./ไร่ 1,300 กก./ไร่ และ 1,020 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเปราะทั้งสามรอบการผลิตเท่ากับ 1,402 กก./ไร่ 1,556 กก./ไร่ และ 1,330 กก./ไร่ ตามลำดับ และพบว่าต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 39,261 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 27,429 บาท/ไร่/ปี รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 58,116 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 36,880 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 18,855 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 9,451 บาท/ไร่/ปี ปี 2560 กรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน ถั่วฝักยาว และมะเขือเปราะเท่ากับ 1,200 กก./ไร่ 1,610 กก./ไร่ และ 1,020 กก./ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเปราะทั้งสามรอบการผลิตเท่ากับ 1,300 กก./ไร่ 1,110 กก./ไร่ และ 1,040 กก./ไร่ ตามลำดับ และพบว่าต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 32,226 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 26,369 บาท/ไร่/ปี รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 44,000 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 33,100 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 23,014 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,731 บาท/ไร่/ปี ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการผลิตพืชผักระบบหมุนเวียนในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย แปลงต้นแบบเกษตรกรปลูกมะระจีน-ถั่วฝักยาว-มะเขือเปราะ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะระจีน 1,263 กก./ไร่ ถั่วฝักยาว 1,236 กก./ไร่ และ มะเขือเปราะ 954 กก./ไร่ ตามลำดับ มีต้นทุนเฉลี่ย 9,873 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 26,310 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 16,436 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 3 การทดสอบระบบการปลูกพืชกับดักในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.จันทบุรี เกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือกรรมวิธีแนะนำปลูกพืชกับดักโดยปลูกผักโขมระหว่างแถวผักคะน้า กรรมวิธีเกษตรกรปลูกผักคะน้าโดยไม่ปลูกพืชกับดัก ปี 2559 พบว่ากรรมวิธีแนะนำผลผลิตเฉลี่ยคะน้าเท่ากับ 706.4 กก./ไร่ และผลผลิตเฉลี่ยผักโขมเท่ากับ 223.2 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรผลผลิตเฉลี่ยคะน้าเท่ากับ 753 กก./ไร่ ตามลำดับ ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 8,238 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 8,138 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 21,459 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 19,820 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 12,902 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,768 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำผลผลิตเฉลี่ยคะน้าเท่ากับ 1,133.6 กก./ไร่ และผลผลิตเฉลี่ยผักโขมเท่ากับ 484 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรผลผลิตเฉลี่ยคะน้าเท่ากับ 1,214 กก./ไร่ ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ8,012 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 7,262 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 21,229.6 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 23,310.6 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 18,017 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 11,663.2 บาท/ไร่ 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการผลิตพืชผักระบบการปลูกพืชกับดักในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย แปลงต้นแบบเกษตรกรปลูกมะระจีน-ถั่วพู-มะเขือเปราะ พบว่าปริมาณผลผลิตคะน้าเฉลี่ย 823 กก./ไร่ ผลผลิตผักโขมเฉลี่ย 137 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,483 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ย 14,703 บาท/ไร่ และผลตอบแทนเฉลี่ย 9,220 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 4 การทดสอบระบบการปลูกพืชกับดักในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และจ. ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำ ปลูกดาวเรืองเป็นพืชกับดัก แมลงระหว่างแถวมะเขือเทศ กรรมวิธีเกษตรกร ปลูกมะเขือเทศโดยไม่มีการปลูกพืชกับดักระหว่างแถว พบว่า ปี 2559 เกษตรกรดำเนินการปลูกพืชตามกรรมวิธีแนะนำได้รับปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศเท่ากับ 332 กก./ไร่ และปริมาณผลผลิตเฉลี่ยดาวเรืองเท่ากับ 9,817 ดอก/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรได้รับปริมาณผลผลิตเฉลี่ย มะเขือเทศเท่ากับ 330 กก./ไร่ และพบว่าต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 8,876 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,769 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 24,600 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 16,500 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 15,724 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 11,731 บาท/ไร่ ปี 2560 กรรมวิธีแนะนำได้รับปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศเท่ากับ 759 กก./ไร่ และปริมาณผลผลิตเฉลี่ยดาวเรืองเท่ากับ 8,137 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรได้รับปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศเท่ากับ 620.6 กก./ไร่ และพบว่าต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 8,850 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,958 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 17,540 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 8,934 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 8,690 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 3,976 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการผลิตพืชผักระบบหมุนเวียนในพื้นที่แปลงเกษตรกร 3 ราย แปลงต้นแบบเกษตรกรปลูกดาวเรืองเป็นพืชกับดักแมลงระหว่างแถวมะเขือเทศ พบว่าได้รับปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศเท่ากับ 981.7 กก./ไร่ และปริมาณผลผลิตเฉลี่ยดาวเรืองเท่ากับ 7,697 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 10,486 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 18,997 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 8,510 บาท/ไร่

กิจกรรมที่ 3 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการการป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระบบเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 5 การทดลอง ดังนี้

          การทดลองที่ 1 การทดสอบวิธีการป้องกันกำจัดโรคในผักชีในระบบเกษตรอินทรีย์ จ.จันทบุรี มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำ ปลูกผักชีโดยปลูกผักชีโดยป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูในผักชีโดยชีววิธี ดังนี้ เตรียมดินแปลงปลูกผักชี โดยใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม รำ 5 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน หว่านลงในแปลงก่อนปลูกผักชี อัตรา 100 กรัม/ตารางเมตร และทำโครงหลังคาพลาสติกคลุมแปลงปลูกผักชีในช่วงฤดูฝน กรรมวิธีเกษตรกรปลูกผักชีโดยป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูในผักชีตามวิธีของเกษตรกรโดยไม่มีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในช่วงเตรียมดิน และไม่มีโครงหลังคาคลุมแปลงในช่วงฤดูฝน ปี 2559 เมื่อดำเนินการทดสอบตามกรรมวิธีที่กำหนด พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยผักชี เท่ากับ 925 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยผักชีเท่ากับ 781 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 4,198 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,138 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 10,484 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 9,018 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 6,286 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 3,603 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยผักชี เท่ากับ 664.8 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยผักชีเท่ากับ 629.2 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 4,506 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,076 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 12,062 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,786 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 7,556 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,710 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการการป้องกันกำจัดโรคผักชีในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยผักชี 1,148 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 6,631 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 31,508 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 24,876 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 2 ทดสอบการป้องกันกำจัดโรคแตงกวาในระบบเกษตรอินทรีย์ จ.จันทบุรี มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำ ปลูกแตงกวาโดยป้องกันกำจัดโรคศัตรูในแตงกวาโดยชีววิธี ดังนี้ เตรียมดินแปลงปลูกแตงกวา โดยใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม รำ 5 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน รองก้นหลุมก่อนปลูกแตงกวา อัตรา 50 กรัม/หลุม และฉีดพ่นเชื้อบาซิลลัส ซับทิลิส อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน กรรมวิธีเกษตรกรปลูกแตงกวาโดยป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูในแตงกวาตามวิธีของเกษตรกรโดยไม่มีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในช่วงเตรียมดิน และไม่มีการฉีดพ่นเชื้อบาซิลลัส ซับทิลิส ปี 2559 เมื่อดำเนินการทดสอบตามกรรมวิธีที่กำหนด พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,527.6 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,307.2 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 12,520 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 13,606 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 25,698 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 23,378 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 13,036 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 9,772 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,751 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,649 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 10,970 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 11,510 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 26,961 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 26,546 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 14,462 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 15,036 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการการป้องกันกำจัดโรคแตงกวาในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 2,080 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 11,716 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 19,423 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 7,706 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 3 ทดสอบการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในถั่วฝักยาวระบบเกษตรอินทรีย์ จ.จันทบุรี มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี แนะนำปลูกถั่วฝักยาวโดยป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในถั่วฝักยาวโดยชีววิธี ดังนี้ ใช้สาร BT ฉีดพ่น อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน เพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะฝัก กรรมวิธีเกษตรกรปลูกถั่วฝักยาวโดยป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูในถั่วฝักยาวตามวิธีของเกษตรกร เช่นการใช้น้ำส้มควันไม้ ใช้สารสกัดจากสะเดาฉีดพ่นและไม่มีฉีดพ่น BT ปี 2559 เมื่อดำเนินการทดสอบตามกรรมวิธีที่กำหนด พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,552 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,423.2 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 7,208 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,942 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 17,350 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 13,234 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 10,142 บาท/ไร่/ปี กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,292 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,685.4 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,640 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 6,588 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 6,364 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 17,972 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 15,642 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 11,384 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 9,296 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการการป้องกันกำจัดโรคแตงกวาในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,366 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 7,450 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 17,520 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 10,070 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 4 ทดสอบการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูคะน้าในระบบเกษตรอินทรีย์ จ. ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำปลูกคะน้าโดยป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในคะน้าโดยชีววิธี ดังนี้ ใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย อัตรา 200 ล้านตัว/น้ำ 20 ลิตร/พื้นที่แปลงปลูก 20 ตารางเมตร พ่นทุก 5 วัน เพื่อป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก และใช้ BT ฉีดพ่นฉีด อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วันเพื่อป้องกันกำจัดหนอนใยผัก/หนอนกระทู้ผัก กรรมวิธีเกษตรกรปลูกคะน้าโดยป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูในคะน้าตามวิธีของเกษตรกร เช่นการใช้น้ำส้มควันไม้ ใช้สารสกัดจากสะเดาฉีดพ่นและไม่มีฉีดพ่นไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย และ BT ปี 2559 เมื่อดำเนินการทดสอบตามกรรมวิธีที่กำหนด พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 770.2 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 680.8 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 7,965 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 5,910 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 12,417 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 11,425 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 5,816 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,770 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,531 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,089 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 8,553 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 8,910 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 14,840 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,590 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 6,307 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 4,350 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูคะน้าในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,613 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 5,796 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 26,775 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 24,291 บาท/ไร่

          การทดลองที่ 5 ทดสอบการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผักสลัดในระบบเกษตรอินทรีย์ จ. ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 5 ราย มี 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำ ปลูกผักสลัดโดยป้องกันกำจัดแมลงศัตรูโดยชีววิธี ดังนี้ ใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย อัตรา 200 ล้านตัว/น้ำ 20 ลิตร/พื้นที่แปลงปลูก 20 ตารางเมตร พ่นทุก 5 วัน เพื่อป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก และใช้ BT ฉีดพ่นฉีด อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วันเพื่อป้องกันกำจัดหนอนใยผัก/หนอนกระทู้ผัก กรรมวิธีเกษตรกรปลูกผักสลัดโดยป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูตามวิธีของเกษตรกร เช่นการใช้น้ำส้มควันไม้ ใช้สารสกัดจากสะเดาฉีดพ่น และไม่มีฉีดพ่นไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย และ BT ปี 2559 เมื่อดำเนินการทดสอบตามกรรมวิธีที่กำหนด พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 987.6 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 809 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 14,212 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,400 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 18,234 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 14,163 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 4,022 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 3,490 บาท/ไร่ ปี 2560 พบว่ากรรมวิธีแนะนำปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,141 กก./ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 865 กก./ไร่ มีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยของกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 15,021 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 10,100 บาท/ไร่ รายได้กรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 18,080 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 13,320 บาท/ไร่ และผลตอบแทนกรรมวิธีแนะนำเท่ากับ 3,059 บาท/ไร่ กรรมวิธีเกษตรกรเท่ากับ 3,220 บาท/ไร่ ปี 2561 ดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบการการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผักสลัดในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,346 กก./ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 10,026 บาท/ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 37,356 บาท/ไร่ และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 27,330 บาท/ไร่

          โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดปราจีนบุรีทั้งหมด 10 ครั้ง จำนวนเกษตรกรเข้ารับการอบรมรวม 413 ราย รวมทั้งมีเกษตรกรร่วมดำเนินงานสร้างแปลงขยายผลผลิตพืชผักอินทรีย์ 53 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 30 ราย และอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 5 ราย ซึ่งจากการประเมินผลความคิดเห็นของเกษตรกรที่ร่วมดำเนินงานต่อเทคโนโลยีที่ได้แนะนำในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ด้านต่างๆ พบว่าเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดไปใช้ได้จริงระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 80 รวมทั้งช่วยทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 47 ราย คิดเป็นร้อยละ 89


ไฟล์แนบ
.pdf   3_2561.pdf (ขนาด: 3.1 MB / ดาวน์โหลด: 577)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก - โดย doa - 05-29-2019, 09:56 AM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม