การศึกษาพรรณไม้วงศ์ Balsaminaceae และGesneriaceae บริเวณเทือกเขาหินปูน
#1
การศึกษาพรรณไม้วงศ์ Balsaminaceae และGesneriaceae บริเวณเทือกเขาหินปูน
ปราโมทย์ ไตรบุญ
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช

          พรรณไม้ในวงศ์เทียน (Balsaminaceae) และวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) เป็นพรรณไม้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ เช่น แอฟริกาไวโอเล็ต, โคมญี่ปุ่น และอิมเพชั่น เป็นต้น ไม้ประดับดังกล่าวล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากพรรณไม้ใน 2 วงศ์นี้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจและศึกษาพรรณไม้ใน 2 วงศ์ ดังกล่าว สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชจึงได้เสนองานวิจัยเรื่อง การศึกษาพรรณไม้วงศ์ Balsaminaceae และ Gesneriaceae บริเวณเทือกเขาหินปูน เพื่อศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน คือ การสำรวจรวบรวมและศึกษาด้านอนุกรมวิธานพรรณไม้ใน 2 วงศ์ดังกล่าว เก็บเป็นข้อมูลของประเทศไทย การจำแนกชนิด และสามารถพัฒนาเป็นไม้ประดับต่อไปในอนาคต

          พรรณไม้ในวงศ์เทียน (Balsaminaceae) และวงศ์ชาฤาษี (Gesneriaceae) มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพืชที่มีนิเวศบริเวณเทือกเขาหินปูนจากการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างจากพื้นที่ธรรมชาติทั่วประเทศไทย สามารถพบพืชใน 2 วงศ์ดังกล่าวมีจำนวนถึง 198 ชนิด โดยจัดเป็นพืชในวงศ์เทียนจำนวน 60 ชนิด วงค์ชาฤาษี 138 ชนิด พืชในวงค์เทียนในประเทศไทยทั้งหมดจัดอยู่ในสกุลเทียน (Impatiens) เพียงสกุลเดียวเท่านั้นและในจำนวนนี้หลายชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ผู้ศึกษาได้จัดตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกมีจำนวนถึง 10 ชนิด หนึ่งในจำนวนนี้ได้ขอพระราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า I. sirindhorniae และทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตพร้อมพระราชทานชื่อทั่วไปว่า “ชมพูสิริน”

          ส่วนวงศ์ชาฤาษีพบว่า มี 16 สกุลจากจำนวน 138 ชนิดที่พบในประเทศไทย คือ สกุล Boea, Calcareoboea, Chirita, Damrongia, Didymocarpus, Epithema, Kaisupeea, Monophylleae, Paraboea, Petrocosmea, Phylloboea, Rhynchoglossum, Rhynchotechum, Stauranthera, Tetraphyllum และ Trisepalum พืชในสกุลเหล่านี้มีการกระจายพันธุ์บริเวณเทือกเขาหินปูนทั้งสิ้น จากการสำรวจพบใน 138 ชนิดนี้ได้ค้นพบชนิดพืชใหม่ของโลกถึง 22 ชนิด พืช 2 ชนิด ในสกุล Petrocosmea ได้จัดตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกแล้ว และอีก 20 ชนิดอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์ต้นฉบับ 2 ใน 20 ชนิดนี้ได้ขอพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่า Trisepalum bhumibolianus พระราชทานชื่อสามัญว่า “ภูมิพลินทร์” และ Trisepalum sangwaniae พระราชทานชื่อสามัญว่า “นครินทรา” จากการศึกษาในครั้งนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลทางอนุกรมวิธาน พร้อมจัดทำตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างอ้างอิงต้นแบบสำหรับพืชที่ค้นพบใหม่ จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เพื่อใช้ในการศึกษาต่อไปในอนาคต และบรรจุไว้ในฐานข้อมูลเพื่อการค้นหาต่อไปในอนาคต ประโยชน์การศึกษาในครั้งนี้สามารถพบพืชชนิดใหม่ของโลกถึง 52 ชนิด ที่นักอนุกรมวิธานพืชทั่วโลกใช้ในการอ้างอิงซึ่งเป็นเกียรติประวัติให้กับประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ และผู้วิจัย แต่สิ่งสำคัญคือสามารถนำพืชที่สำรวจเหล่านี้ไปพัฒนาต่อให้เป็นไม้ประดับที่นิยมกันทั่วโลกดังเช่นที่เห็นในท้องตลาดระดับสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทยในอนาคตต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1849_2554.pdf (ขนาด: 1.08 MB / ดาวน์โหลด: 5,429)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การศึกษาพรรณไม้วงศ์ Balsaminaceae และGesneriaceae บริเวณเทือกเขาหินปูน - โดย doa - 11-18-2015, 02:39 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม