แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา
#1
แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา
อารมณ์ โรจน์สุจิตร และสายใจ สุชาติกูล
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี

          การศึกษาแนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา ดำเนินการในปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 - กันยายน 2550) ศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการและเรือนทดลองเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อโรครากของยางพาราด้วยวิธีการที่ง่าย สะดวกในการปฏิบัติและมีประสิทธิภาพ สำหรับนำไปพัฒนาใช้ในระดับแปลงปลูกต่อไป โดยทำการศึกษา 2 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาผลของแอมโมเนียมอะซิเตด (C2H7NO2) แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (MgCO3) ซุปเปอร์ฟอสฟอริก (H3PO4) และกำมะถันต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราโรครากขาวในระดับห้องปฏิบัติการ และ 2) ทำการศึกษาศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวในระดับเรือนทดลอง โดยใช้ปุ๋ยที่มีสารประกอบใกล้เคียงกับสารที่มีศักยภาพในการป้องกันการเจริญของเชื้อรา R. lignosus จากการทดลองที่ 1 คือ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรียและสารเสริมบางชนิดคือ ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต กำมะถันผง (80 เปอร์เซ็นต์) และซิลิกอนผง ผลการทดลองสรุปได้ว่า ปูนขาวในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต และผงซิลิกอน ไม่มีผลในการกำจัดและป้องกันโรครากขาว ส่วนปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต และกำมะถันในอัตราผสม 0.5 และ 1.0 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตรมีศักยภาพในการยับยั้งกำจัดเชื้อรา และสามารถป้องกันการติดเชื้อโรครากขาวของรากยางเมื่อผสมกับดินปลูกได้ แต่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต และกำมะถันความเข้มข้นสูงเป็นพิษต่อต้นยาง จึงสมควรศึกษาพัฒนาอัตราการใช้และวิธีการปลูกยางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคของยางพาราและไม่เป็นพิษกับพืชปลูกใหม่ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   643_2551.pdf (ขนาด: 1.15 MB / ดาวน์โหลด: 400)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม