ศึกษาสภาพที่เหมาะสมเพื่อลดปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในการเก็บรักษาในโรงเก็บและขนส่ง
#1
ศึกษาสภาพที่เหมาะสมเพื่อลดปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในการเก็บรักษาในโรงเก็บและในระหว่างการขนส่ง
จารุวรรณ บางแวก, อนุวัฒน์ รัตนชัย, อรวรรณ จิตต์ธรรม และอรณิชชา สุวรรณโฉม

          เดือยเป็นพืชส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีปัญหาการปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซินมากกว่า 10 ppb ทำให้ต้องส่งกลับประเทศไทย สันนิษฐานว่าสาเหตุหนึ่งคือ ความชื้นเมล็ด อุณหภูมิ ปริมาณการปนเปื้อนเมล็ดที่มีเชื้อรา Aspergillus flavus และระยะเวลาการเก็บรักษา จึงทำการทดลอง 3 การทดลอง เพื่อหาสาเหตุการเพิ่มปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือย ณ สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตรระหว่าง ตุลาคม 2549 - กันยายน 2551 การทดลองที่ 1 ผลของความชื้นเมล็ดที่มีผลต่อปริมาณสารแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือย พบปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างความชื้นเมล็ดและระยะเวลาการเก็บรักษาที่มีผลต่อปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือย ความชื้น 10% และเก็บรักษานาน 5 เดือนจะทำให้ปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินต่ำกว่ากรรมวิธีอื่น การทดลองที่ 2 ผลของความชื้นเมล็ด ปริมาณเมล็ดที่ปนเปื้อนเชื้อรา และระยะเวลาเก็บรักษา ต่อปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือย พบปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างความชื้นเมล็ดและระยะเวลาการเก็บรักษา ปริมาณสารแอฟลาทอกซินในเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 20% และเก็บไว้เป็นเวลานาน 4 เดือน จะมีปริมาณสารแอฟลาทอกซินในเมล็ดสูงกว่ากรรมวิธีอื่น คือ 68.4 ppb ส่วนเมล็ดที่มีความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 10% จะมีปริมาณสารแอฟลาทอกซินในเมล็ดต่ำกว่า การทดลองที่ 3 ผลของปริมาณเมล็ดที่ปนเปื้อนเชื้อรา อุณหภูมิ และระยะเวลาเก็บรักษา ต่อปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือย พบว่า เมล็ดที่มีการปนเปื้อนสูง เก็บที่อุณหภูมิ 10 C เมื่อเก็บรักษาไว้ได้นาน 3 เดือน จะมีปริมาณสูงกว่าเก็บที่อุณหภูมิ 20 และ อุณหภูมิห้อง ทั้งนี้เป็นเพราะความชื้นในตู้ 10 C จะมีความชื้นสูงกว่าที่ 20 C และอุณหภูมิห้อง ดังนั้น การปฏิบัติให้เมล็ดมีปริมาณสารพิษแอฟลาทอกซินในเมล็ดเดือยต่ำคือ ความชื้นเมล็ดต่ำ (10%) และสะอาดปราศจากการปนเปื้อนเชื้อรา Aspergillus flavus และเก็บในสภาพความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ


ไฟล์แนบ
.pdf   973_2551.pdf (ขนาด: 1.98 MB / ดาวน์โหลด: 322)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม