การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ
มณเทียน แสนดะหมื่น, สุริยนต์ ดีดเหล็ก และสุทัด ปินตาเสน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน และศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่

          การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการเพาะขยายพันธุ์และการปลูกเลี้ยงเอื้องแซะที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการวิจัย ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ตุลาคม 2554 – กันยายน พ.ศ. 2555 โดยมี 3 การทดลองคือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการย้ายปลูกเอื้องแซะ วิธีการย้ายปลูกเอื้องแซะที่เหมาะสม และวัสดุย้ายปลูกเอื้องแซะที่เหมาะสม

          การทดลองที่ 1 ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการย้ายปลูกเอื้องแซะ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (CRD) มี 3 กรรมวิธี (3 ช่วงฤดู) ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 ฤดูหนาว (พ.ย. - ก.พ.) กรรมวิธีที่ 2 ฤดูร้อน (มี.ค. - มิ.ย.) และกรรมวิธีที่ 3 ฤดูฝน (ก.ค. - ก.ย.) จากการทดลองพบว่า ช่วงเดือน มีนาคม - มิถุนายน มีอัตราการมีชีวิตของต้นกล้ากล้วยไม้เอื้องแซะสูงสุดร้อยละ 62 หลังจากย้ายปลูก 90 วัน มีการเจริญเติบโต จำนวนรากเฉลี่ยสูงสูด

          การทดลองที่ 2 วิธีการย้ายปลูกเอื้องแซะที่เหมาะสม วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ (RCBD) มี 5 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ย้ายปลูกในสภาพปกติ (ไม่มีการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ ไม่ให้สารเคมีและไม่ให้เชื้อไมโคไรซ่า) กรรมวิธีที่ 2 ย้ายปลูกในกระโจมพลาสติก กรรมวิธีที่ 3 ย้ายปลูกในกระบะพ่นหมอก กรรมวิธีที่ 4 ย้ายปลูกโดยให้กรดแอบซิสิค (ABA) ขณะย้ายปลูก และกรรมวิธีที่ 5 ย้ายปลูกโดยใส่เชื้อไมโครไรซ่าขณะย้ายปลูก จากการทดลองพบว่า การย้ายปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะในกระโจมพลาสติก มีอัตราการมีชีวิตสูงสุดร้อยละ 87.5 หลังย้ายปลูก 90 วัน และมีการเจริญเติบโต จำนวนใบ ขนาดใบ และจำนวนรากสูงสุด

          การทดลองที่ 3 วัสดุย้ายปลูกเอื้องแซะที่เหมาะสม วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ (RCBD) มี 5 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ไม่ใช้วัสดุปลูก กรรมวิธีที่ 2 สแฟคนัมมอส กรรมวิธีที่ 3 ใยมะพร้าว กรรมวิธีที่ 4 เปลือกสน และกรรมวิธีที่ 5 เปลือกไม้ท้องถิ่น ผลการทดลองพบว่า การย้ายปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะในวัสดุปลูก สแฟคนัมมอส มีอัตราการมีชีวิตสูงสุดร้อยละ 72 หลังย้ายปลูก 90 วัน ส่วนด้านการเจริญเติบโตหลังย้ายปลูกพบว่า กล้วยไม้เอื้องแซะที่ปลูกในวัสดุสแฟคนัมมอส มีการเจริญเติบโตจำนวนใบเฉลี่ยสูงสุด กล้วยไม้เอื้องแซะที่ปลูกในใยมะพร้าวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นสูงสุด และกล้วยไม้เอื้องแซะที่ปลูกในเปลือกไม้ท้องถิ่นจำนวนรากเฉลี่ยสูงสุด


ไฟล์แนบ
.pdf   17_2555.pdf (ขนาด: 570.21 KB / ดาวน์โหลด: 1,599)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม