วิจัยและพัฒนาถั่วเหลือง
#1
วิจัยและพัฒนาถั่วเหลือง
สมชาย ผะอบเหล็ก

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการน าไปใช้ประโยชน์ของถั่วเหลือง
อ้อยทิน ผลพานิช และคณะ

         โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการนำไปใช้ประโยชน์ของถั่วเหลือง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงเหมาะสมกับพื้นที่และวัตถุประสงค์การใช้ พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลือง และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ ดำเนินการวิจัยใน 2 กิจกรรม คือ การปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลือง และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง ณ แปลงทดลองในศูนย์วิจัยพืชและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร และไร่เกษตรกรที่เป็นแหล่งปลูกถั่วเหลือง ในปี 2554 - 2558 ผลการวิจัยพบว่า ในการประเมินคุณค่าเชื้อพันธุกรรมถั่วเหลืองพบพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและสามารถนำไปพัฒนาต่อในโครงการปรับปรุงพันธุ์ จำนวน 30 สายพันธุ์ การปรับปรุงถั่วเหลืองสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ถั่วเหลืองให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะการเกษตรที่ดี ได้จำนวน 17 สายพันธุ์ เพื่อนำเข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนปรับปรุงพันธุ์ต่อไป และพบถั่วเหลืองสายพันธุ์ CM9928-1-3 CM9937-1-3 CM4703-10 และ CM9936-1-8 สามารถปรับตัวในหลายแหล่งปลูกและให้ผลผลิตสูง พันธุ์ CM9936-1-8 ให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกที่จังหวัดพะเยา พันธุ์ MHS 17 ให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกที่จังหวัดสุโขทัยและขอนแก่น ซึ่งจะได้นำพันธุ์เหล่านี้ไปทดสอบในแปลงเกษตรกรและศึกษาข้อมูลเฉพาะเพื่อพิจารณาคัดเลือกขอเป็นพันธุ์รับรองหรือพันธุ์แนะนำต่อไป การวิเคราะห์ QTLs สืบหาตำแหน่งยีนควบคุมลักษณะโปรตีนของถั่วเหลือง พบเครื่องหมายโมเลกุล 4 เครื่องหมาย คือ Satt184, Satt590, Satt196 และ Satt247 สามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองโปรตีนสูงในสายพันธุ์ไทยได้ ส่วนการถ่ายยีนไซโคลฟิลินในถั่วเหลืองเพื่อทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม สามารถทำได้โดยใช้ somatic embryo เป็นชิ้นส่วนพืชเริ่มต้น การชักนำให้เกิด somatic embryo ในถั่วเหลือง กระทำได้โดยใช้เมล็ดอ่อนเลี้ยงบนอาหาร MS ที่เติมวิตามินสูตร B5 และ 2,4-D ความเข้มข้น 180 μM การถ่ายยีนไซโคลฟิลินในถั่วเหลืองสามารถทำได้โดยใช้ Agrobacterium tumefaciens สายพันธุ์ EHA 105

          การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง ในแต่ละแหล่งปลูกถั่วเหลืองมีการผลิตและปัญหาการผลิตแตกต่างกันออกไป สามารถนำข้อมูลที่สำรวจได้มาวางแผนงานวิจัยต่อไปในอนาคต การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งเขตพื้นที่ปลูกจังหวัดเชียงใหม่ ควรปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 ที่ระยะปลูก 40x20 ซม. เขต จ.น่าน และพะเยา ปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 ที่ระยะปลูก 50x20 ซม. ให้ผลผลิตสูงสุด ส่วนในฤดูฝนการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 6 ที่ระยะปลูก 40x20 ซม. จะให้ผลผลิตสูงสุดทั้งในเขต จ.เชียงใหม่ พะเยา และน่าน การปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 เชียงใหม่ 6 และ CM 9513-3 ในดินร่วนปนทราย ดินชุดเรณูในเขตจังหวัดพิษณุโลก ควรให้ปริมาณน้ำที่ 0.8 IW/E หรือ 48 มม. ต่อครั้ง จะทำให้ผลผลิต ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้านความงอกสูงสุด และควรใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 3-6-3 กก. ของ N-P2O5-K2O การศึกษาด้านการเปลี่ยนทางสภาวะภูมิอากาศพบว่า สามารถปลูกถั่วเหลืองได้เร็วขึ้นกว่าระยะที่แนะนำเดิม ได้แก่ ในฤดูแล้งปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมกราคม พันธุ์ถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตสูง คือ เชียงใหม่ 60 พันธุ์ถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงคือเชียงใหม่ 2 ในฤดูปลายฝนปลูกได้ตั้งแต่ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม พันธุ์ถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตสูง คือ เชียงใหม่ 60 สามารถจำแนกดินในแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเขตภาคเหนือได้ทั้งหมด 11 ชุดดิน และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในปลายฤดูฝนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในร้อยละ 3 - 61 เมล็ดพันธุ์มีความงอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 - 58 ความแข็งแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 - 47 ในฤดูแล้งผลผลิตเพิ่มขึ้นในร้อยละ 1 - 73 และเมล็ดพันธุ์มีความงอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 - 15 ความแข็งแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 - 39 การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ควรการเก็บเกี่ยวด้วยมือที่ระยะ R7.5 และ R8 การพ่นสารให้ต้นแห้งและเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวดที่ระยะ R8 ให้ผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ใกล้เคียงวิธีการเก็บเกี่ยวด้วยมือแต่มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว 9.3 - 8.3 % และการแตกร้าว 44.5 - 11.0 % หากเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีพ่นให้ต้นแห้งหรือใบร่วง ควรใช้พาราควอทอัตราต่ำสุด คือ 100 กรัม (a.i.)/ไร่ ที่มีประสิทธิภาพทำให้ต้นแห้ง ใบร่วง และฝักแห้งพร้อมเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด แต่มีผลทำให้ผลผลิตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์ลดลง การเก็บรักษาเมล็ดด้วยการเคลือบเมล็ดด้วยน้ำมันสะเดามีความงอกและความเร็วในการงอกสูงกว่าการไม่เคลือบน้ำมันสะเดา เมื่อเพาะที่ระดับความชื้นทราย 100 % การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองสายพันธุ์ MJ9520-21 ปลูกที่ระยะ 50x20 ซม 3 ต้น/หลุม ให้ค่าอัตราส่วนของผลตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด และการปลูกในฤดูแล้งให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงกว่าปลูกในช่วงปลายฤดูฝน การใช้สารกำจัดวัชพืช metribuzin (ไถเตรียมดินก่อนปลูก) และการใช้ acetochlor (ปลูกโดยไม่ไถเตรียมดิน) ในการจัดการวัชพืชในถั่วเหลืองหลังนาในเขตชลประทาน มีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนสูงสุด การคลุกเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองด้วยสาร imidacloprid 60%FS, imidacloprid 70%WS และ thiamethoxam 35%FS อัตรา 10 มิลลิลิตร 5 กรัม และ 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก. มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบในถั่วเหลือง การพ่นสาร buprofezin 25%WP สาร white oil 67%EC และสารผสม buprofezin 25%WP + white oil 67%EC แบบ Tank mixed มีประสิทธิภาพสามารถควบคุมประชากรของแมลงหวี่ขาวยาสูบทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ในพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า ถั่วเหลืองพันธุ์/สายพันธุ์เชียงใหม่ 6 CM9911-1-5 และขอนแก่นเหมาะสำหรับ ปลูกหลังฤดูทำนาโดยอาศัยความชื้นในดินหรืออาศัยความชื้นในดินร่วมกับการให้น้ำ 1 - 2 ครั้ง และพันธุ์เชียงใหม่ 2 เหมาะสำหรับสภาพขาดน้ำปลายฤดู และการปลูกโดยวิธีขุดหยอดระยะ 40x20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด หรือวิธีโรยเมล็ดในร่องไถ ระยะร่อง 40 ซม. 25 - 30 เมล็ดต่อแถวยาว 1 ม. และวิธีหว่าน 15 กก./ไร่ และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน ที่ส่งผลให้ถั่วเหลืองงอกและอยู่รอดถึงเก็บเกี่ยวเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเมล็ดใช้ปลูกสูงกว่าวิธีอื่นๆ เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่น MHS 17 ในแหล่งปลูกจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบว่า ในฤดูแล้ง ควรปลูกในช่วงกลางพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม ปลูกที่ระยะ 40x20 ซม. จำนวนต้น 3 - 4 ต้นต่อหลุม และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างน้อย อัตรา 3 กก. N ต่อไร่ ในฤดูฝนควรปลูกในช่วงกลางมิถุนายนต้นเดือนกรกฎาคมปลูกที่ระยะ 40x20 ซม. หรือ 50x20 ซม. จำนวนต้น 2 - 4 ต้นต่อหลุม และคลุกเมล็ดด้วยไรโซเบียมก่อนปลูก สามารถทดแทนการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนได้ การปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ลพบุรี 84-1 ควรใช้ระยะปลูก 75x10 ซม. จำนวน 4 ต้น/หลุม จะทำให้สามารถใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กในการพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชและโรคแมลง และการใส่ปุ๋ยเคมีในแปลงปลูกได้ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่น MJ9520-21 ในเขตจังหวัดเลยและใกล้เคียง พบว่า ควรปลูกปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นธันวาคม หรือช้ากว่านี้ 10 วัน ถ้าปลูกช่วงต้นเดือนธันวาคมจึงจะได้ผลผลิตสูงที่สุด

โครงการที่ 2 โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตถั่วเหลืองฝักสดเพื่อการส่งออก
รัชนี โสภา และคณะ

          ประเทศไทยมีการปลูกถั่วเหลืองฝักสดทั้งบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกในรูปแบบการแช่แข็ง พันธุ์เพื่อการส่งออกส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทย ให้ผลผลิตไม่สูงนัก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการส่งออกของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี การปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด โดยการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ การประเมินผลผลิตตามขั้นตอนต่างๆ พบว่า การผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ดี ผสมพันธุ์ได้ 69 คู่ผสม คัดเลือกลูกชั่วต่างๆ ได้ 185 สายพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์โดยการฉายรังสี คัดเลือก M4 ได้ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์ AGS 292 ฉายรังสี จำนวน 1,475 ฝัก และเชียงใหม่ 84-2 ฉายรังสี จำนวน 3,691 ฝัก การเปรียบเทียบมาตรฐานชุดที่ 2 คัดเลือกได้ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ CM0910-2-4 CM0910-2-6 CM0910-21-1 CM0910-21-2 และ CM0914-2-2 ขณะที่การเปรียบเทียบมาตรฐานชุดที่ 3 คัดเลือกได้ 7 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ CM0913-2-2-3 CM0914-4-5-5 CM0914-4-6-1 CM0914-5-3-2 CM0914-5-4-4 CM0914-5-4-6 และ CM0914-6-1-1 การเปรียบเทียบสายพันธุ์จาก AVRDC พบว่า AGS434 และ AGS438 เป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้กว้างปลูกได้ทั่วไป การเปรียบเทียบสายพันธุ์ดีในแต่ละพื้นที่พบว่า สายพันธุ์ MJ9749-46 ให้น้ำหนักฝักสดมาตรฐานและน้ำหนักฝักสดรวมสูง

          ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต จากการสำรวจการผลิตถั่วเหลืองฝักสดพบว่า การผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ นิยมใช้พันธุ์เชียงใหม่ 60 และพันธุ์ลูกผสมสายพันธุ์ดีเด่น ผลผลิตอยู่ระหว่าง 550 - 2,091 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายอยู่ระหว่าง 8 - 20 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 4,229 - 13,327 บาทต่อไร่ ปัญหาการผลิต คือ ราคา และการตลาดขึ้นกับพ่อค้าคนกลางและกลไกตลาด การผลิตถั่วเหลืองฝักสดเพื่อส่งออกพบว่า ปลูกได้ 1 - 2 ครั้งต่อปี ในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพ.ย. กลางเดือนม.ค. และในฤดูฝน พันธุ์ที่ใช้ คือ พันธุ์ AGS 292 นัมเบอร์ 75 และคาโอริ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 667 - 2,147 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายอยู่ระหว่าง 16 - 18 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 7,772 - 16,515 บาทต่อไร่ ปัญหาการผลิต คือ มีการใช้สารเคมีมาก มีความเสี่ยงต่อสารเคมีกำจัดโรคและแมลง เกษตรกรต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ช่วงปลูกที่เหมาะสมในเขตภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. แต่ไม่ควรเกินกลางเดือนธ.ค. ช่วงการปลูกที่เหมาะสมที่สุดอยู่ระหว่างต้นเดือนถึงกลางเดือนธ.ค. ต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. ถึงสิ้นเดือน พ.ค. และฤดูฝน คือ ในช่วงกลางเดือนส.ค.ถึงสิ้นเดือนส.ค. ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท และลพบุรี ฤดูปลูกที่เหมาะสมในฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. ถึงต้นเดือนม.ค. และฤดูฝน คือ ตั้งแต่กลางเดือนก.ค. ถึงต้นเดือนส.ค. การผลิตถั่วเหลืองฝักสดในเขตภาคกลางพบว่า สายพันธุ์ VB_LB 1 พันธุ์ AGS433 เชียงใหม่ 84-2 และ AGS 292 ให้ผลผลิตสูงในจังหวัดชัยนาท พันธุ์ VB_LB 1 ให้ผลผลิตฝักสดสูงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พันธุ์ AGS433 และพันธุ์เชียงใหม่ 84-2 มีผลผลิตสูงในจังหวัดอุทัยธานี และพันธุ์ VB_LB 1 และ AGS433 ให้ผลผลิตสูงในจังหวัดปทุมธานี ระยะปลูกและจำนวนต้นต่อหลุมที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณฝักมาตรฐาน คือ 40 x 20 ซม. และ 2 - 4 ต้นต่อหลุม การใช้ไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ย 6 - 9 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ที่พิษณุโลก ให้ผลผลิตฝักสดมาตรฐานพันธุ์ เอจีเอส 292 สูงที่สุด และการใช้ไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนครึ่งอัตรา GAP (11-11-13) ให้ผลผลิตฝักสดมาตรฐานพันธุ์นัมเบอร์ 75 สูงสุด ขณะที่การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนครึ่งอัตรา GAP ที่ศวพ.ลพบุรี ให้ผลผลิตฝักสดมาตรฐานพันธุ์เอจีเอส 292 สูงสุด และการใส่ปุ๋ย 0-18-6 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ร่วมด้วยทำให้ผลผลิตฝักสดมาตรฐานพันธุ์นัมเบอร์ 75 สูงสุด สำหรับในฤดูฝนที่ศว.ร.เชียงใหม่ การใส่ปุ๋ยเคมี (ครั้งที่ 3) อัตรา 13 - 21 กิโลกรัมของ N - P2O5 - K2O (ปุ๋ยเคมีเกรด อัตรา 100 กิโลกรัม) เป็นอัตราที่ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มคุ้มค่าต่อการลงทุน การพ่นสารกำจัดวัชพืช imazethapyr, imazapic และ chlorimuron ethyl + imazethapyr อัตรา 500, 100 และ 50+400 มิลลิกรัมต่อไร่ สามารถกำจัดวัชพืชประเภทใบแคบได้ดีที่สุด การพ่นสารฆ่าแมลง 5 ครั้งเมื่อถั่วอายุ 28 35 42 49 และ 56 วัน หรือเมื่อถั่วอายุ 35 40 45 50 และ 55 วัน หรือการพ่นสารฆ่าแมลง 7 ครั้ง (ที่อายุ 7 14 21 28 35 42 และ 49 วัน) และพ่นสารสะเดา 1 ครั้ง (ที่อายุ 56 วัน) สามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในระยะออกดอกและติดฝักได้ดี นอกจากนี้ สารฆ่าแมลง บูโพรเฟซิน (นาปาม 25 %WP) อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และไซแอนทรานิลิโพรล (เบเนเวีย 10 %OD) อัตรา 60 มล./น้ำ 20 ลิตร ใช้ป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบได้ดี สารฆ่าแมลงฟลูเบนไดอะไมด์ (ทาคูมิ 20 %WDG) อัตรา 5 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ผัก สารฆ่าแมลงสปินโนแซด (ซัคเซส 12 %SC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ใช้ป้องกันกำจัดหนอนม้วนใบ และหนอนเจาะฝักถั่ว และสารฆ่าแมลงฟลูเบนไดอะไมด์ (ทาคูมิ 20 %WDG) อัตรา 5 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ใช้ป้องกันกำจัดหนอนเจาะฝักถั่วได้ดีเช่นกัน ระยะเก็บเกี่ยวที่ให้ผลผลิตเมล็ดและเมล็ดพันธุ์สูงสุดในฤดูแล้งของพันธุ์เชียงใหม่ 84-2 คือระยะ R8-R8+5 วัน ขณะที่สายพันธุ์ MJ0101-4-6 และพันธุ์ AGS292 ที่ระยะ R7.5-R8 ทุกพันธุ์/สายพันธุ์มีความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์หลังการปรับปรุงสภาพสูงกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์ขยาย แต่ในฤดูฝนจะมีคุณภาพต่ำ

โครงการที่ 3 โครงการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเหลืองเฉพาะพื้นที่
ศุภชัย อติชาติ และคณะ

          การดำเนินการวิจัยนี้กระทำขึ้นจากปัญหาการผลิตถั่วเหลืองในประเทศไทยแต่ละพื้นที่มีการผลิตที่ให้ผลผลิตต่ำ ผลตอบแทนต่ำ เป็นพืชทางเลือกเมื่อไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้ การผลิตของเกษตรกรยังคงมิได้ใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการในการผลิต ทั้งเรื่องพันธุ์ดีที่เหมาะสม การเขตกรรม การใส่ปุ๋ย และการดูแลโรคแมลงยังคงการผลิตตามแต่จะเคยดำเนินการมา โดยที่ศักยภาพของถั่วเหลืองแต่ละพื้นที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อีก เพื่อให้การผลิตถั่วเหลืองยังคงดำเนินต่อไปได้และมีประสิทธิภาพดีขึ้นการวิจัยนี้จึงได้กำหนดการวิจัยเป็น 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเหลืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กิจกรรมที่ 2 การทดสอบ และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองในภาคตะวันออก และกิจกรรม การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองฝักสดที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีการผลิตถั่วเหลืองที่แตกต่างกัน ทั้งช่วงระยะเวลาปลูก พันธุ์ และการผลิตเพื่อเมล็ดและการผลิตเป็นถั่วเหลืองฝักสด ตามลักษณะของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ใช้วิธีการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างกรรมวิธีของเกษตรกรและกรรมวิธีทดสอบ เริ่มดำเนินการในปี 2543 และสิ้นสุดในปี 2556 จากผลการดำเนินงานพบว่าแต่ละพื้นที่มีการตอบสนองต่อผลการดำเนินงานแต่ต่างกันไป ส่วนใหญ่กรรมวิธีทดสอบให้ผลเชิงบวกดีกว่ากรรรมวิธรของเกษตรกร แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายเกษตรกลับพบว่า ในความเหมือนกันของสภาพภูมินิเวศหากตัวเกษตรกรมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป อันส่งผลให้บางปีและบางพื้นที่กรรมวิธีของเกษตรกรให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีทดสอบ นั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชที่มีต่อแต่ละพื้นที่และแต่ละวิธีปฏิบัติยังคงมีความแตกต่างกัน หากเกษตรกรมีความเข้าใจและสามารถปรับใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการได้อย่างเหมาะสมจะสามารถเพิ่มผลผลิต ศักยภาพและลดต้นทุนได้


ไฟล์แนบ
.pdf   203_2558.pdf (ขนาด: 1.08 MB / ดาวน์โหลด: 17,100)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม