ผลของสารละลายใบยาสูบต่อการควบคุมเพลี้ยไฟพริก
#1
ผลของสารละลายใบยาสูบต่อการควบคุมเพลี้ยไฟพริก
วีระสิงห์ แสงวรรณ, ฉลองรัตน์ หมื่นขวา, เจนจิรา เทเวศ์วรกุล, สุกัญญา คำคง, อนุชา ผลไสว, ปภัสรา คุณเลิศ, ณัฐธิดา ทองนาค, อธิปัตย์ คลังบุญครอง, อาธิยา ปุ่นประโคน และอิทธิพล บรรณาการ
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ผลการศึกษาระยะเวลาในการปลดปล่อยปริมาณนิโคติน โดยหมักใบยาสูบบ่มแห้ง พันธุ์เบอร์เลย์จากสถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ที่อัตรา 0.5, 1.0, 1.5 และ 2.0 กิโลกรัมต่อน้ำ 15.0 ลิตร พบว่าปริมาณนิโคตินและระยะเวลามีความแตกต่างกันทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยปริมาณนิโคตินจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณใบยาสูบที่เพิ่มขึ้น เริ่มมีการปลดปล่อยนิโคตินที่ระยะเวลา 6 และ 9 ชั่วโมง จนกระทั่งสูงสุดที่ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นปริมาณนิโคตินจะเริ่มลดลง เมื่อนำสารละลายที่ได้จากการหมักใบยาสูบ 0.5, 1.0, 1.5 และ 2.0 กิโลกรัมต่อน้ำ 15 ลิตร ที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง พบปริมาณนิโคติน 2041.6, 3369.5, 5230.5 และ 7717.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ นำมาศึกษาประสิทธิภาพของสารละลายใบยาสูบในการควบคุมเพลี้ยไฟพริกในห้องปฏิบัติการ โดยวิธีการฉีดพ่นโดยตรง (direct spray method) เพื่อนำไปคำนวณหา LC50 พบว่าความเข้มข้นของสารละลายใบยาสูบที่ทำให้เพลี้ยไฟพริกตายร้อยละ 50 มีค่าเท่ากับ 936.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และระยะเวลาการหมักสารละลายใบยาสูบในอัตรา 1.5 กิโลกรัม ที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสมในการควบคุมเพลี้ยไฟพริก

          ผลการศึกษาระยะเวลาการคงสภาพของสารละลายใบยาสูบที่อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อน้ำ 15 ลิตร เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่าที่ ระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีปริมาณนิโคตินในสารละลายใบยาสูบ เท่ากับ 4737.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ระยะเวลา 7, 14 และ 31 วัน มีปริมาณนิโคตินในสารละลายใบยาสูบ เท่ากับ 4732.3, 4752.7 และ 4797.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ดังนั้น สารละลายใบยาสูบมีการคงสภาพที่ดีในระยะเวลา 1 เดือน (วัน) และจากการทดสอบประสิทธิภาพสารละลายใบยาสูบต่อการควบคุมเพลี้ยไฟพริกในแปลงเกษตรกร อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าที่ระยะเวลา 3 วัน กรรมวิธีการฉีดพ่นด้วยสารละลายใบยาสูบ 0.75 – 1.5 กิโลกรัมต่อลิตร สามารถลดจำนวนเพลี้ยไฟได้มากกว่าการฉีดน้ำเปล่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังให้ผลไม่แตกต่างจากการฉีดพ่นด้วย imidacloprid 10%W/V SL แต่พบปริมาณเพลี้ยไฟเพิ่มจำนวนขึ้นที่ระยะเวลา 5 - 7 วัน และมีแนวโน้มมากกว่าการใช้สารเคมี


ไฟล์แนบ
.pdf   19_2559.pdf (ขนาด: 509.04 KB / ดาวน์โหลด: 4,006)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม