เทคนิคการพ่นสารด้วยเครื่องพ่นหมอกในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้
#1
เทคนิคการพ่นสารด้วยเครื่องพ่นหมอกในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, นลินา ไชยสิงห์, สุภางคนา ถิรวุธ, สิริกัญญา ขุนวิเศษ และสุชาดา สุพรศิลป์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         ศึกษาเทคนิคการพ่นสารด้วยเครื่องพ่นหมอก (Cold fogger) ในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้ ดำเนินการที่แปลงกล้วยไม้สกุลหวายของเกษตรกร ในจังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกันยายน 2560 เพื่อเปรียบเทียบความหนาแน่นของละอองสาร การตกค้างของละอองสารบนช่อดอกกล้วยไม้ การสูญเสียของละอองสารลงสู่ดินและการตกค้างของละอองสารบนส่วนต่างๆ ของผู้พ่นด้วยวิธี colorimetric method วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 6 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ได้แก่ กรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอก ที่อัตราพ่น 6, 8, 10 และ 12 ลิตรต่อไร่ พ่นที่แนวพ่นสาร 3 เมตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงอัตราพ่น 120 ลิตรต่อไร่ (อัตราพ่นแนะนำ) และอัตราพ่น 160 ลิตรต่อไร่ (อัตราพ่นของเกษตรกร) พ่นที่แนวพ่นสาร 0.5 เมตร ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกมีความหนาแน่นของละอองสารในระดับที่สูงกว่ากรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงทั้ง 2 อัตรา และมีการตกค้างของละอองสารบนช่อดอกที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติแม้จะมีอัตราพ่นที่น้อยกว่า 10 - 27 เท่าก็ตาม ตลอดจนการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกสามารถลดการสูญเสียของละอองสารลงสู่ดินได้มากกว่า 13 เท่าและลดการตกค้างของละอองสารบนส่วนต่างๆ ของผู้พ่นได้มากกว่า 38 เท่า ตามลำดับ เพื่อยืนยันผลการทดลองจึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของวิธีการพ่นด้วยสารฆ่าแมลง thiamethoxam/lambdacyhalothrin 24.7% EC) ที่อัตรา 120 มิลลิลิตรต่อไร่ (อัตราแนะนำ) และที่อัตรา 160 มิลลิลิตรต่อไร่ (อัตราของเกษตรกร) จำนวน 2 แปลงทดลอง ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีการพ่นมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้ไม่แตกต่างกันทางสถิติ อย่างไรก็ตามกรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกสามารถลดปริมาณสารฆ่าแมลงได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับวิธีการของเกษตรกรและสามารถลดเวลาในการทำงานลงได้มากกว่า 25% และ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีแนะนำและกรรมวิธีของเกษตรกร


ไฟล์แนบ
.pdf   78_2560.pdf (ขนาด: 914.24 KB / ดาวน์โหลด: 1,004)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม