การผลิตและการประยุกต์ใช้ชีวภัณท์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมในการกำจัดด้วงแรด
#1
การผลิตและการประยุกต์ใช้ชีวภัณท์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมในการกำจัดด้วงแรด (Oryctes rhinoceros L.)
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด, เมธาสิทธิ์ คนการ, อนุสรณ์ พงษ์มี, สมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี, ประภาพร ฉันทานุมัติ, ดารากร เผ่าชู, อุดมพร เสือมาก และภัสชญภณ หมื่นแจ้ง
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

          ด้วงแรดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม การใช้ราเขียวเมตาไรเซียม Metarhizium anisopliae สายพันธุ์ DOA-M5 เป็นวิธีการทางชีววิธีที่ช่วยควบคุมด้วงแรดได้ งานวิจัยนี้เริ่มดำเนินการเดือนมกราคม 2558 - ธันวาคม 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตราเขียวเมตาไรเซียมในรูปแบบชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดด้วงแรด สะดวกต่อการใช้งานและมีราคาถูก โดยเน้นรูปแบบอัดเม็ดเพื่อลดการปลิวของเชื้อและปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผลการศึกษาพบว่าชีวภัณฑ์ สูตรที่ 5 ที่มีส่วนผสมของ Pumice, ราเขียวรูปแบบเชื้อสด, น้ำมันพืช และน้ำนึ่งฆ่าเชื้อ มีความเหมาะสมสำหรับผลิตในรูปแบบอัดเม็ด เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการผลิตสั้น และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการทดสอบประสิทธิภาพชีวภัณฑ์เชื้อสดอัดเม็ด (สูตรที่ 5) ในสภาพกึ่งเรือนทดลองแนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์เชื้อสดอัดเม็ดที่อัตรา 200 กรัม ต่อพื้นที่กองกับดักที่ใช้วงบ่อซีเมนต์ ขนาดความจุ 0.24 ลูกบาศก์เมตร การทดสอบประสิทธิภาพชีวภัณฑ์ในพื้นที่ จ.นครปฐม และจ.สมุทรสงคราม จากจำนวนกองกับดักทั้งสิ้น 27 กอง พบค่าเฉลี่ยจำนวนหนอนด้วงแรดที่ลงในกองกับดักที่ใช้ชีวภัณฑ์เชื้อสดอัดเม็ดและเชื้อสดไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ 48.12 และ 35.43 ตัวและพบหนอนด้วงแรดที่ติดเชื้อเมตาไรเซียมอยู่ที่ 87.07 และ 77.67 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   248_2560.pdf (ขนาด: 2.34 MB / ดาวน์โหลด: 845)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม