การจัดการโรคเหี่ยวของขิงที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum แบบผสมผสาน
#1
การจัดการโรคเหี่ยวของขิงที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum แบบผสมผสาน
บูรณี พั่ววงษ์แพทย์, ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ทิพวรรณ กันหาญาติ, รุ่งนภา ทองเคร็ง, ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์ และจิตอาภา ชมเชย
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

          การจัดการโรคเหี่ยวของขิงที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum แบบผสมผสาน ดำเนินงานที่แปลงขิงในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างเดือนเมษายน 2555 ถึงกุมภาพันธ์ 2556 ในพื้นที่ 2 งาน โดยแบ่งแปลงเป็น 2 ส่วนๆ ละ 1 งาน แปลงที่ 1 เป็นแปลงที่ใช้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขิงโดยวิธีผสมผสาน ส่วนแปลงที่ 2 เป็นแปลงที่ทำการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขิงโดยวิธีของเกษตรกร การควบคุมโรคเหี่ยวของขิงโดยวิธีผสมผสานเป็นการจัดการดินโดยใช้ยูเรียและปูนขาวในอัตรา 80 กก./ไร่ และปูนขาว 800 กก./ไร่ อบดินก่อนปลูกขิงร่วมกับการใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis สายพันธุ์ดินรากยาสูบ no.4 ที่มีความเข้มข้นประมาณ 10(8) - 10(9) หน่วยโคโลนี/มิลลิลิตร รองก้นหลุมจำนวน 1 กรัม/หลุม ปลูกหลังจากปลูกขิง 1 และ 3 สัปดาห์ รดด้วยแบคทีเรีย B. subtilis สายพันธุ์ดินรากยาสูบ no.4 อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และรดต่อเนื่องทุกเดือน จำนวน 5 ครั้ง สามารถควบคุมโรคเหี่ยวได้ 62% ได้น้ำหนักหัวขิงเฉลี่ย 615 กรัมต่อหัว และได้ผลผลิต 2,260 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนแปลงปลูกขิงที่ทำการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขิงโดยวิธีเกษตรกร (แปลงเปรียบเทียบ) พบโรคเหี่ยวมากถึง 79% ได้น้ำหนักหัวขิงเฉลี่ย 608 กรัมต่อหัว และได้ผลผลิตเพียง 690 กิโลกรัมต่อไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   2337_2555.pdf (ขนาด: 145.59 KB / ดาวน์โหลด: 620)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม