ศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดและผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากต่อปลานิล
#1
ศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดและผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากต่อปลานิล
อุดมลักษณ์ อุ่นจิตต์วรรธนะ, รัตนาภรณ์ พรหมศรัทธา และพรรณี อัตตนนท์
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดหนอนตายหยาก (Stemona burkilli P.) เก็บมาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ มาทำการสกัดโดยสกัดรากสด รากแห้ง และสารสกัดทางพฤกษเคมีของหนอนตายหยากชนิดนี้ โดยใช้ผงรากสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ใช้ผงรากแห้ง 100 มิลลิลิตรต่อเอทานอล 1 ลิตร สารประกอบที่สกัดได้ทางพฤกษเคมี โดยใช้รากแห้ง จะได้อัลคาลอยด์ (Alkaloids) 2.6% เทอร์ปินอยด์ (terpenoids) 0.38% น้ำมัน (oils) 0.14% และ n-oxides 0.34% หลังจากนั้นนำสารเหล่านี้มาทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันกับลูกปลานิลขนาดลำตัว 2-3 เซนติเมตร ในห้องปฏิบัติการทดสอบพิษวิทยา วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 5 ความเข้มข้น 4 ซ้ำ ได้ค่า LC50 เฉลี่ย ดังนี้ รากหนอนตายหยากสดหมักน้ำ LC50 เฉลี่ย 2,288 ppm (mg/l) รากหนอนตายหยากแห้งหมักเอทานอล LC50 เฉลี่ย 448.8 ppm (mg/l) alkaloids จากราหนอนตายหยาก LC50 เฉลี่ย 1.72 ppb (ug/l) terpenoids จากรากหนอนตายหยาก LC50 เฉลี่ย 0.20 ppb (ug/l) oils จากรากหนอนตายหยาก LC50 เฉลี่ย 0.19 ppb (ug/l) และ n-oxides จากรากหนอนตายหยาก LC50 เฉลี่ย 0.68 ppm (ug/l)

          ส่วนการทดลองความเป็นพิษกับลูกปลานิลขนาด 2-3 เซนติเมตร โดยใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากที่ผลิตในห้องปฏิบัติการให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 765 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากที่ผลิตในโรงงานต้นแบบให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 225 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากยี่ห้อ Bison ให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 3,500 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากยี่ห้อ Stemc-9 ให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 27,000 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากยี่ห้อ Stemona Extract Liquid ให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 3,800 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากยี่ห้อ Plant Safe MT ให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 7.1 ppm ในเวลา 96 ชม. ใช้ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากยี่ห้อไบโอทิพย์ M-301 ให้ค่า LC50 ลูกปลานิล 8.5 ppm ในเวลา 96 ชม.

          ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดใช้วัตถุดิบในการผลิตเป็นหนอนตายหยากคนละ species จึงเปรียบเทียบได้ระหว่างยี่ห้อเท่านั้น และกระบวนการผลิตแตกต่างกัน ใช้ตัว carrier และ inert ingredient ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจออกฤทธิ์เป็นตัวเสริมฤทธิ์หรือต้านฤทธิ์แตกต่างกัน เช่น ยี่ห้อ Plant Safe MT และยี่ห้อไบโอทิพย์ มีส่วนผสมของน้ำมันสนซึ่งออกฤทธิ์ความเป็นพิษสูงกับปลา เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นพิษเฉียบพลันของโรติโนนในสารสกัดจากรากโรติ๊น (0.17%) และผลิตภัณฑ์ (0.24%) กับลูกปลานิลขนาด 2.75±0.28 ซม. ในเวลา 96 ชั่วโมง ได้ค่า LC50 ของโรติโนนในสารสกัด 0.0007 ppm (mg/l) และในผลิตภัณฑ์ 0.0008 ppm (mg/l)


ไฟล์แนบ
.pdf   1915_2553.pdf (ขนาด: 864.58 KB / ดาวน์โหลด: 1,031)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม