ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์
ชื่อพืช
ข้าวเจ้า
พันธุ์
ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี
วันที่รับรอง
27 มกราคม 2540
ประเภทการรับรอง
พันธุ์แนะนำ
ประวัติ
ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ได้มาจากการผสม 3 ทาง และคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมแบบสืบตระกูลระหว่างลูกผสมชั่วที่ 1 ของ SPR84177-8-2-2-2-1 และ SPR85091-13-1-1-4(แม่) กับขาวดอกมะลิ 105 (พ่อ) ปี พ.ศ.2532 ที่สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี และทำการประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ปีพ.ศ.2533-2540 ทำการปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ฤดูนาปีและนาปรัง ปีพ.ศ.2538-2540 ที่สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี และเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ปี พ.ศ.2539 ฤดูฝนที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถานีทดลองข้าวคลองหลวง สถานีทดลองข้าวบางเขน และสถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี ได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105
ลักษณะประจำพันธุ์
อายุเก็บเกี่ยวเมื่อปลูกแบบปักดำประมาณ 120 วัน ต้นสูงประมาณ 126 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ลำต้นแข็งไม่ล้มง่าย ใบสีเขียวอ่อน กาบใบสีเขียว ใบมีขนใบธงตั้งตรง ช่วงเก็บเกี่ยวใบแก่ช้า รวงยาวแน่นปานกลางระแง้ถี่คอรวงโผล่จากกาบใบธงเล็กน้อย ข้าวเปลือกสีฟาง มีขนสั้นบนเปลือกเมล็ด รูปร่างข้าวกล้องยาวเรียว ยาว 7.69 มิลลิเมตร กว้าง 2.12 มิลลิเมตร หนา 1.81 มิลลิเมตร น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 29.7 กรัม ข้าวสุกหอมนุ่ม ปริมาณอมิโลส 18.72 เปอร์เซ็นต์ ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3-4 สัปดาห์ ให้ผลผลิตประมาณ 673 กิโลกรัมต่อไร่ ในฤดูนาปรัง และ 582 กิโลกรัมต่อไร่ ในฤดูนาปี
ลักษณะเด่น
ข้าวเจ้าหอมมีคุณภาพ เมล็ดทางกายภาพและทางเคมีคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงปลูกได้ตลอดปี อายุประมาณ 120 วัน เมื่อปลูกแบบปักดำ ค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาวดีกว่าขาวดอกมะลิ 105
พื้นที่แนะนำ
พื้นที่นาชลประทาน เขตจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อควรระวัง
ค่อนข้างไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ และไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคใบหงิก และโรคใบสีส้ม