คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกัน
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกัน African red mite, Eutetranychus africanus (Tucker)
อัจฉราภรณ์ ประเสริฐผล, มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          การศึกษาผลของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกัน จากการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชติดต่อกันทุก 14 วัน รวม 3 ครั้ง ตามกรรมวิธี ประกอบด้วย กรรมวิธีที่พ่นสาร carbaryl, fenpropathrin, cypermethrin, mancozeb และไม่พ่นสารในแปลงส้มของเกษตรกร อ.พรานกระต่าย จ.ก าแพงเพชร โดยตรวจนับจำนวนไรแดงหลังพ่นสาร 7 วัน พบว่า สาร mancozeb มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกันได้ จึงเก็บรวบรวมไรแดงแอฟริกันจากแปลงทดลอง เพื่อทำการทดสอบผลของสารที่มีต่อลักษณะทางชีววิทยาของไรแดงแอฟริกันในห้องปฏิบัติการพบว่า ไรแดงแอฟริกันจากแปลงทดสอบมีค่า LC50 ต่อสารในแต่ละกรรมวิธี ดังต่อไปนี้ สาร carbaryl 99.973 ppm, fenpropathrin 40.408 ppm, cypermethrin 9.558 ppm และสาร mancozeb 1040.414 ppm จากนั้นทดสอบผลของสารต่อปริมาณการวางไข่ของไรแดงแอฟริกันพบว่า ปริมาณไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียหลังจากได้รับสาร carbaryl และ mancozeb เฉลี่ย 12.3 ฟองต่อวัน มากกว่าและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียที่ไม่ได้รับสารซึ่งมีค่าเฉลี่ย 7.6 ฟองต่อวัน จากนั้นทดสอบผลของสารต่อวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกัน (F1) พบว่า วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ได้รับสาร carbaryl มีค่าเฉลี่ย 9.804 วัน ยาวกว่าและมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ไม่ได้รับสาร ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 8.125 วัน ส่วนผลของสารต่ออายุขัยและจำนวนไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ (F1) หลังจากได้รับสาร carbaryl, fenpropathrin, cypermethrin, mancozeb และไม่ได้รับสารพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ จึงสรุปได้ว่า ตัวเต็มวัยเพศเมียของไรแดงแอฟริกัน เมื่อได้รับสาร carbaryl และ mancozeb มีปริมาณไข่ที่วางได้มากกว่าตัวเต็มวัยที่ไม่ได้รับสาร และสาร carbaryl ยังมีผลทำให้วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกัน (F1) ยาวนานกว่าวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ไม่ได้รับสารอีกด้วย