คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาการสลายตัวของ Metalaxyl ในส้มโอเพื่อกำหนดค่าสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRLs)
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาการสลายตัวของ Metalaxyl ในส้มโอเพื่อกำหนดค่าสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRLs) ครั้งที่ 1 - 2
ศิริพันธ์ สุขมาก และประชาธิปัตย์ พงษ์ภิญโญ

          การศึกษาการสลายตัวของ metalaxyl ในส้มโอได้กระทำการทดลองในเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2551 ในแปลงทดลองของเกษตรกรจำนวน 2 แห่ง โดยแปลงที่ 1 ทำการทดลองที่อำเภอศรีมโหสพ จังหวัดปราจีนบุรีและแปลงที่ 2 ทำการทดลองที่อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยทำการฉีดพ่นวัตถุมีพิษแลคเตอร์ 25 %w/v WP ซึ่งประกอบด้วย metalaxyl 25 %wv วางแผนการทดลองแบบพิเศษสำหรับทำ supervised residue trial มี 2 การทดลอง คือ ไม่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษ และฉีดพ่นวัตถุมีพิษในอัตราที่ฉลากกำหนด คือ 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร แต่ละการทดลองมี 3 ซ้ำ (replication) แต่ละซ้ำใช้ส้มโอ 4 ต้น รวมการทดลองละ 12 ต้น ทำการฉีดพ่นวัตถุมีพิษ 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7 วัน หลังการฉีดพ่นครั้งสุดท้าย เก็บผลส้มโอมาตรวจวิเคราะห์ทั้งเนื้อและเปลือกรวมกันโดยปล่อยให้สลายตัวนาน 0 วัน 1 วัน 3 วัน 5 วัน 7 วัน 10 วัน และ 14 วัน รวม 7 ครั้ง ได้ผลการทดลองดังนี้ แปลงทดลองที่ 1 แปลงควบคุมซึ่งไม่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษ ไม่พบสารพิษตกค้างของ metalaxyl ส่วนแปลงที่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษพบสารพิษตกค้าง metalaxyl ในปริมาณ 0.68, 0.28, 0.15, 0.07 และ 0.04 mg/kg ตามลำดับ ในวันที่ 10 และ 14 วัน ไม่พบสารพิษตกค้าง ส่วนแปลงที่ 2 แปลงควบคุมซึ่งไม่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษไม่พบสารพิษตกค้างของ metalaxyl ส่วนแปลงที่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษพบสารพิษตกค้าง metalaxyl ในปริมาณ 0.48, 0.29, 0.14, 0.13, 0.15, 0.15 และ 0.07 mg/kg ตามลำดับ และจากการสุ่มเก็บตัวอย่างส้มโอจากแหล่งจำหน่ายจำนวน 40 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสารกลุ่ม carbamates ปรากฏว่าไม่พบสารในกลุ่มดังกล่าว จากการทดลองได้ผลสรุปว่าถ้าเกษตรกรดูแลแปลงส้มโอตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และฉีดพ่นด้วยวัตถุมีพิษแลคเตอร์ 25 %WP ในอัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตรแล้ว หลังจากฉีดพ่นสารครั้งสุดท้ายสามารถเก็บผลผลิตได้ในเวลา 3 วัน (Codex, 2008 กำหนดให้มี metalaxyl ในผลไม้จำพวกส้มได้ไม่เกิน 5 mg/kg)