คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Malathion ในส้มโอ เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Malathion ในส้มโอ เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 (MRLs)
สมสมัย ปาลกูล และประชาธิปัตย์ พงษ์ภิญโญ

          ศึกษาการสลายตัวของมาลาไทออนในส้มโอ ครั้งที่ 3 ตามวิธีการศึกษาการใช้วัตถุมีพิษอย่างถูกต้องและปลอดภัย (Good Agricultural Practice) ทำการทดลองในแปลงเกษตรกร ณ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ครั้งที่3 และอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ครั้งที่ 4 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2551 และเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2551 โดยแบ่งแปลงทดลองออกเป็น 2 แปลง คือ แปลงควบคุม (ไม่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษ) และ แปลงอัตราตามคำแนะนำ (30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร) ฉีดพ่นมาลาไทออนในแปลงส้มโอ (มาลาร์เฟซ 83% W/V EC) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 4 ครั้ง ภายหลังฉีดพ่นครั้งสุดท้าย ทิ้งให้วัตถุมีพิษแห้งสนิท จึงเก็บเกี่ยวส้มโอที่ระยะเวลา 0, 1, 3, 5, 7, 10 และ 14 วัน นำมาสกัดสารพิษตกค้างโดยวิธีทางเคมี และวิเคราะห์ด้วยเครื่อง gas chromatograph ปรากฎผลการวิเคราะห์ดังนี้ ส้มโอแปลงฉีดพ่นมาลาไทออนครั้งที่ 3 โดยใช้อัตราตามคำแนะนำ (30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร) พบสารพิษตกค้างในส้มโอทั้งผล (เนื้อรวมเปลือก) ปริมาณ 0.65, 0.33, 0.12, 0.06, 0.04, 0.03 และ 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ และส้มโอแปลงฉีดพ่นมาลาไทออน ครั้งที่ 4 พบปริมาณ 1.06, 0.44, 0.17, 0.12, 0.07, 0.04 และ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ สำหรับแปลงควบคุมตรวจไม่พบสารพิษตกค้าง

          การกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างมาลาไทออนในพืชตระกูลส้มของแต่ละประเทศมีค่าแตกต่างกันคือ Codex MRL และประเทศไทย กำหนด 7 มก./กก. EU MRL กำหนด 2 มก./กก. ประเทศญี่ปุ่นกำหนด 4 มก./กก. ดังนั้นข้อมูลจากการทดลองนี้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปลอดภัยแล้วพบว่า ส้มโอแปลงฉีดพ่นอัตราตามคำแนะนำมีปริมาณสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่าปลอดภัยที่กำหนดตั้งแต่วันแรกของการเก็บเกี่ยว (0 วัน) ฉะนั้นควรทิ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเป็นสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ

          จากการสำรวจเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่าย และแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ เช่น ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร ชัยนาท และพิษณุโลก จำนวน 53 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในส้มโอทั้งผลจำนวน 25 ตัวอย่าง ได้แก่ cypermethrin, chlorpyrifos, ethion, pirimiphos-methyl และ triazophos อยู่ในระดับปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ และพบสารพิษตกค้างของ ethion เกินค่าปลอดภัยจำนวน 1 ตัวอย่าง (ตารางที่2)