คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาวิธีการใส่ปุ๋ยอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาวิธีการใส่ปุ๋ยอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ
อรรถสิทธิ์ บุญธรรม และวัฒนศักดิ์ ชมภูนิช

          ในการเปรียบเทียบวิธีการใส่ปุ๋ยเคมี 3 ชนิด 5 วิธีการ โดยการวางแผนการทดลอง 5 x 3 Factorial in RCB 3 ซ้ำ มีปัจจัยที่ 1 คือ วิธีการใส่ปุ๋ยอ้อย 5 วิธีการ ประกอบด้วย 1) ใส่ปุ๋ยอ้อยโดยใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถไถเดินตาม 2) ใส่ปุ๋ยอ้อยโดยใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก (26 Hp) 3) ใส่ปุ๋ยอ้อยโดยใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ (90 Hp) 4) ใส่ปุ๋ยอ้อยโดยใช้แรงงานคนหว่าน และใช้จอบหมุนพรวนดินกลบปุ๋ยและ 5) ใส่ปุ๋ยอ้อยโดยใช้แรงงานคนหว่านปุ๋ยโดยไม่มีการไถกลบปุ๋ย ปัจจัยที่ 2 คือ ใช้ปุ๋ย 3 ชนิด อัตรา 100 กก./ไร่ ได้แก่ ยูเรีย (46-0-0) แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ดำเนินการทดลองในปี 2551 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีในดินชุดกำแพงแสน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ผลการทดลองพบว่า อ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยการหว่านอ้อยมีการเจริญเติบโตในด้านความสูงและการแตกกอดีในช่วงแรกหลังจากใส่ปุ๋ย แต่เมื่ออ้อยอายุ 6 เดือน อ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยมีการกลบฝังปุ๋ยมีการเจริญเติบโตในด้านความสูงดีกว่าอ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยการหว่าน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยพบว่า มีแนวโน้มอ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยการใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถไถเดินตามให้ผลผลิตสูงสุด (22.2 ตัน/ไร่) รองลงมาคือ อ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถแทรกเตอร์เล็ก (24 Hp) ให้ผลผลิต 19.7 ตัน/ไร่ การใส่ปุ๋ยโดยการใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ (90 Hp) ให้ผลผลิตต่ำสุด คือ 15.9 ตัน/ไร่ เพราะว่าอ้อยมีบางส่วนหักเสียหายจากการใส่ปุ๋ยและปุ๋ยที่ใส่มีการฝังกลบลึกเกินไป เมื่อมีฝนตกหลังใส่ปุ๋ยมากเกินไปจะมีการชะล้างในแนวดิ่ง (Leaching) ทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ย ส่วนการใส่ปุ๋ยโดยการหว่านให้ผลผลิตเฉลี่ย 19.1 ตัน/ไร่ แต่การหว่านปุ๋ยและมีการพรวนดินกลบปุ๋ยให้ผลผลิตเฉลี่ย 17.6 ตัน/ไร่ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการมีฝนตก (5 - 10 มิลลิเมตร/วัน) หลังใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปุ๋ยถูกชะล้าง (Leaching) มาก และดินในแปลงทดลองมีปัญหาดินเค็ม จึงทำให้อ้อยใช้ประโยชน์จากปุ๋ยไม่มากเท่าที่ควร อ้อยมีการตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ดังนั้นอ้อยที่ใช้ปุ๋ย 21-0-0 และ 46-0-0 จึงให้ผลผลิตสูงกว่าอ้อยที่ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทั้งๆ ที่ใช้อัตรา 100 กก./ไร่เท่ากัน แต่อ้อยไม่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ทั้งนี้เนื่องจากดินที่ใช้ทดลองมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเพียงพอต่อความต้องการของอ้อย ในด้านคุณภาพความหวานพบว่า ทั้งวิธีการและสูตรปุ๋ยไม่มีผลต่อคุณภาพความหวานของอ้อย ค่า CCS ของอ้อยที่ใช้ปุ๋ย 3 สูตร 5 วิธีการจึงไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่มีแนวโน้มอ้อยที่ใส่ปุ๋ยโดยการใช้เครื่องใส่ปุ๋ยติดท้ายรถไถเดินตามให้ผลผลิตน้ำตาล (2.3 ตัน CCS/ไร่) สูงกว่าวิธีการอื่น