คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ระบบการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนสวนปาล์มน้ำมันเดิม
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ระบบการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนสวนปาล์มน้ำมันเดิม
เกริกชัย ธนรักษ์, พิพัฒน์ เซี่ยงหลิว และยิ่งนิยม ริยาพันธุ์
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7

          การปลูกปาล์มน้ำมันในเชิงเกษตรอุตสาหกรรม โดยทั่วไปจะเริ่มมีการปลูกปาล์มน้ำมันใหม่ทดแทน (replanting) เมื่อปาล์มน้ำมันเดิมมีอายุประมาณ 20 - 30 ปี ข้อพิจารณาในการปลูกทดแทนมีหลายปัจจัยแต่ปัจจัยหลักคือ ความสูงของต้นปาล์มน้ำมันที่ทำให้เก็บเกี่ยวยากขึ้นตามอายุ ปกติการปลูกใหม่ทดแทนมักจะทำลายต้นปาล์มน้ำมันเดิมก่อน แล้วจึงปลูกกล้าปาล์มน้ำมันใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตช่วงแรกประมาณ 3 ปี ต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกทดแทนจึงเริ่มให้ผลผลิต ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันขาดรายได้เป็นระยะเวลานาน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ในขณะที่ต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ทดแทนยังไม่ให้ผลผลิต และมีผลกระทบต่อต้นปาล์มน้ำมันน้อยที่สุด วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 ซ้ำ 5 กรรมวิธี บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ปลูกทดแทนติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี ข้อมูลผลผลิตแยกรายปีในปีที่ 1 – 6 ของทั้งปาล์มน้ำมันเดิม และปาล์มน้ำมันที่ปลูกทดแทนรวมกัน ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ระหว่างปี พ.ศ. 2542 – 2548 ผลการทดลองสรุปได้ว่า การปลูกกล้าปาล์มน้ำมันอายุ 12 เดือน 100% จากนั้นทำลายต้นปาล์มน้ำมันเดิมลง 50% หลังย้ายปลูก 6 เดือน และครบ 100% หลังย้ายปลูก 24 เดือน หรือการปลูกกล้าปาล์มน้ำมันอายุ 18 เดือน 100% จากนั้นทำลายต้นปาล์มน้ำมันเดิมลง 50% และครบ 100% หลังย้ายปลูก 18 เดือน (หรือเมื่อเริ่มการทดลองแล้ว 24 เดือน) สามารถให้ผลผลิตสะสมทั้งจากสวนปาล์มน้ำมันเดิม และปาล์มน้ำมันที่ปลูกทดแทนรวมกัน 6 ปี สูงสุด มากกว่าการทำลายต้นปาล์มน้ำมัน 100%และปลูกปาล์มน้ำมันใหม่ทดแทนทันที ประมาณ 1 เท่าตัว