คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: สาเหตุ และการแพร่กระจายของราเมือกที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงของประเทศไทย
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
สาเหตุ และการแพร่กระจายของราเมือกที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงของประเทศไทย
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, อัจฉรา พยัพพานนท์, ธารทิพย ภาสบุตร และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างราเมือกที่พบเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด และดอกเห็ดนางรม เห็ดภูฏาน เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดขอนขาว และดอกเห็ดตีนแรด ในฟาร์มเพาะเห็ดเป็นการค้า และโรงเรือนทดลองเพาะก้อนเชื้อเห็ด Oudemansiella spp. ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม ราชบุรี ระยอง พังงา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ลำปาง ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี และอุบลราชธานี ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2552 สามารถรวบรวมราเมือกได้จำนวน 82 ไอโซเลท ราเมือกที่พบเข้าทำลายเห็ดที่เพาะเป็นการค้า มีลักษณะเป็นเมือกเยิ้มเรียกว่า พลาสโมเดียม (plasmodium) สีเหลือง ส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองตั้งแต่เหลืองเข้ม เหลืองสด จนถึงเหลืองอ่อนเกือบขาว แผ่ขยายหรือเจริญในลักษณะคล้ายรากพืชหรือบางทีพบเป็นรูปพัด บางครั้งพบระยะที่สร้างระยะสปอร์แรงเจียม (sporangium) เป็นกลุ่มก้านชูกลุ่มสปอร์ สีเทา สีน้ำตาลดำ หรือสีน้ำตาลอมม่วงเข้ม มีลักษณะคล้ายหัวไม้ขีดไฟ หรือคล้ายธูป หรือบางชนิดเป็นกลุ่มคล้ายขนมคุกกี้สีเหลือง หรือสีครีมภายในเป็นกลุ่มของสปอร์แห้ง ราเมือกหรือ slime mold เป็นราที่จัดอยู่ใน Division myxomycota จากการตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยา การเจริญ และวงจรชีวิตของราเมือกที่พบจำนวน 82 ไอโซเลท สามารถจำแนกเบื้องต้นได้เป็นราเมือก 4 สกุล (genus) ได้แก่ สกุล Arcyria สกุล Fuligo สกุล Physarum และสกุล Stemonitis เมื่อประเมินความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของราเมือกพบว่ามีความเสียหายตั้งแต่ 5 – 50 เปอร์เซ็นต์