คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การสำรวจและรวบรวมวัชพืชในมันฝรั่ง
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การสำรวจและรวบรวมวัชพืชในมันฝรั่ง
จันทร์เพ็ญ ประคองวงศ์, เบญจมาภรณ์ ลิ้มประเสริฐ และมัตติกา ทองรส
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, สำนักการเกษตรอำเภอดำเนินสะดวก และสำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

          การสำรวจและรวบรวมวัชพืชในแปลงปลูกมันฝรั่ง ได้ดำเนินงานในแหล่งปลูกมันฝรั่งที่ภาคเหนือ คือจังหวัดลำพูน ที่อำเภอทุ่งหัวช้าง เชียงใหม่ ที่อำเภอไชยปราการ อำเภอสันทราย แม่ฮ่องสอน ที่อำเภอปางมะผ้า แลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร ที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอพังโคน และภาคตะวันตก ที่อำเภอพบพระ ช่วงเวลาดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2550 ถึงกันยายน 2552 ทำการสำรวจโดยใช้แปลงสุ่ม (Sampling plot) ขนาด 0.5 x 0.5 เมตร วางแปลงสุ่มโดยวิธี unrestricted sampling method พบวัชพืชทั้งหมด 43 ชนิด จำแนกได้ 19 วงศ์ (family) 39 สกุล (genus) 43 พันธุ์ (species) วิเคราะห์ลักษณะเชิงปริมาณ (Quantitative characteristic) ของวัชพืชที่สำรวจพบในแปลงโดยอาศัยค่าของ SDR (sum dominance ratio) สามารถจัดกลุ่มวัชพืชเด่น (dominant species) ได้วัชพืช 3 ชนิด คือ สาบแร้งสาบกา (Ageratum conyzoides L.) หญ้านกสีชมพู (Echinochloa colona (L.) Link.) และหญ้ายาง (Euphorbia heterophyllum L.) มีค่า SDR 11.5, 9.9 และ 9.4 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ วัชพืชเด่นลำดับรอง (Co-dominant species) มี 5 ชนิดเช่นกัน ได้แก่ หญ้าตีนกา (Eleusine indica (L.) Gaertn.) หญ้าตีนนก (Digitaria adscendens (L.) Scop. กระดุมใบใหญ่ (Borreria latifolia (Aubl), Schum.) หญ้าตีนติด (Brachiaria reptan (L.) & Hubb.) และสะเดาดิน (Hydrolea zeylanica (L.)Valh.) มีค่า SDR 8.6, 8.0, 5.8, 5.4 และ 5.4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ รายชื่อวัชพืชที่ได้จากการสำรวจนั้น สามารถนำไปจัดทำบัญชีรายชื่อประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest risk analysis) ในการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งตามข้อตกลงมาตรการสุขอนามัยพืช (SPS Agrement) รวมถึงได้ตัวอย่างวัชพืช และเมล็ดเพื่อเป็นหลักฐานการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวัชพืชต่อไป