คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ประสิทธิภาพของวิธีการพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ประสิทธิภาพของวิธีการพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก
จีรนุช เอกอำนวย, ดำรง เวชกิจ, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพวิธีการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคกุ้งแห้งหรือโรคแอนแทรคโนสในพริกที่แปลงเกษตรกร อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2552 บนแปลงพริกที่ปลูกแบบยกร่องกว้าง 2.4 เมตร ขนาดแปลงย่อย 2.4 x 16 เมตร จำนวน 2 ร่อง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 กรรมวิธี จำนวน 5 ซ้ำ ดังนี้ 1. พ่นสารแบบน้ำมากด้วยเครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังชนิดแรงดันน้ำสูง ประกอบหัวฉีดกรวยกลวง 4 หัวแบบคานหัวฉีด (วิธีของเกษตรกร) อัตราพ่น 120 – 140 ลิตร/ไร่ 2. พ่นสารแบบน้ำมากด้วยเครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังชนิดใช้แรงลม ประกอบหัวฉีดฝักบัว อัตราพ่น 100 – 120 ลิตร/ไร่ 3. พ่นสารแบบน้ำน้อยด้วยเครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังชนิดใช้แรงลมประกอบหัวฉีด wizza อัตราพ่น 20 – 40 ลิตร/ไร่ 4. พ่นสารแบบน้ำมากด้วยเครื่องยนต์พ่นสารชนิดแรงดันน้ำสูง ประกอบหัวฉีดกรวยกลวงแบบแผ่นกระแสวนและรูฉีดแยกกัน (disc and core) อัตราพ่น 100 – 120 ลิตร/ไร่ และ 5. กรรมวิธีไม่พ่นสาร เริ่มพ่นสารตามแผนการทดลองเมื่อพริกเริ่มออกดอก โดยพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin (อมิสตา 25%SC) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร พ่นสารทุก 7 วัน จำนวน 10 ครั้ง เก็บผลผลิตพริกเมื่อพริกเริ่มสุกแดงก่อนพ่นสารทุกครั้งและหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย 7 วัน วัดเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคของพริกที่เก็บในแต่ละครั้ง ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีที่พ่นสาร พริกมีเปอร์เซ็นต์เป็นโรคน้อยกว่าและแตกต่างจากกรรมวิธีไม่พ่นสารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจำนวน 4 ครั้ง โดยทุกกรรมวิธีที่พ่นสาพริกเป็นโรคน้อยกว่าวิธีของเกษตรกร และการพ่นแบบน้ำน้อยด้วยหัวฉีด wizza ใช้เวลาในการพ่นน้อยที่สุด