คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การคัดเลือกสารฆ่าแมลงและสารสกัดจากสะเดาในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาว
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การคัดเลือกสารฆ่าแมลงและสารสกัดจากสะเดาในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ Thrips tabaci Lindeman และแมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci Gennadius
อุราพร หนูนารถ, สมรวย รวมชัยอภิกุล, วรวิช สุดจริตธรรมจริยางกูร, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา, นลินา พรมเกษา และรัตนา นชะพงศ์
กลุ่มกีฎและสัตววิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวในหน่อไม้ฝรั่ง วัตถุประสงค์เพื่อทดลองหาสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ และอัตราที่เหมาะสมเพื่อแนะนำเกษตรกรในการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวในหน่อไม้ฝรั่ง ดำเนินการทดลองในแปลหน่อไม้ฝรั่งของเกษตรกร อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2556 ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2556 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design มี 3 ซ้ำ 7 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 พ่นสารpymetrozine 10%WP อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร, กรรมวิธีที่ 2 พ่นสาร spiromosifen 24%SC อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร, กรรมวิธีที่ 3 พ่นสาร buprofezin 25%WP อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร, กรรมวิธีที่ 4 พ่นสารdinotefuran 10%WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร, กรรมวิธีที่ 5 พ่นสาร petroleum spray oil 83.9%EC อัตรา 100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร, กรรมวิธีที่ 6 พ่นสาร petroleum spray oil 83.9%EC + pymetrozine 10%WP อัตรา 100 + 5 มิลลิลิตร,กรัม/น้ำ 20 ลิตร และกรรมวิธีที่ 7 ไม่พ่นสาร ทำการตรวจนับแมลงหวี่ขาวก่อนพ่นสาร และหลังพ่นสารทุก 7 วัน พื้นที่แปลงย่อยขนาด 5 x 6 เมตร จากการทดลองพบว่าทุกกรรมวิธีที่พ่นสารฆ่าแมลง พบแมลงหวี่ขาวน้อยกว่าและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีไม่พ่นสารแสดงให้เห็นว่าสารที่ทดลองมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงหวี่ขาวได้ดีไม่แตกต่างกัน