คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาเครื่องลำเลียงผลสับปะรดพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาเครื่องลำเลียงผลสับปะรดพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์
ขนิษฐ์ หว่านณรงค์, อัคคพล เสนาณรงค์, อานนท์ สายคำฟู และสุชาติ สุขนิยม

          เครื่องลำเลียงผลสับปะรดยาว 12 เมตร ลากพ่วงโดยรถแทรกเตอร์ขนาด 80 แรงม้า ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดเวลาในการลำเลียงผลสับปะรดออกจากแปลงปลูก โดยคนเก็บสับปะรดจะยืนเรียงแถวหน้ากระดานเพื่อตัดสับปะรดและวางบนสายพานลำเลียง สับปะรดจะถูกลำเลียงมาลงในกระบะที่อยู่ด้านหลังรถแทรกเตอร์ เครื่องต้นแบบประกอบด้วยโครงสร้างหลัก ลักษณะคล้ายรถเทรลเลอร์ 4 ล้อ ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ ซึ่งใช้วางกระบะขนาด 1x2x0.6 เมตร (กว้างxยาวxสูง) สำหรับบรรจุผลสับปะรด และโครงสร้างสำหรับติดตั้งสายพานลำเลียงขนาด 0.3x12x0.3 เมตร (กว้างxยาวxสูง) ซึ่งต่อเข้ากับโครงสร้างหลักโดยใช้สลิงยึด สายพานลำเลียงขนาดกว้าง 10 นิ้ว ใช้ไฮดรอลิกมอเตอร์เป็นตัวขับสายพาน ความเร็วเชิงเส้นของสายพานประมาณ 0.5 เมตร/วินาที เครื่องต้นแบบสามารถพับขณะเดินทาง และยืดออกเพื่อทำงานในแปลงสับปะรด อีกทั้งยังสามารถทำงานในแปลงซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขาและไหล่เขาได้ โดยใช้ใช้ไฮดรอลิกมอเตอร์ขับ

          จากการทดสอบในแปลงสับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งวางผังปลูกสับปะรดแบบโรงงาน คือ แถวของต้นสับปะรดยาวขนานกับถนนในแปลง คนเก็บสับปะรดสามารถเดินไปตามร่องปลูกตามการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ได้ ใช้แรงงานคนเก็บผลสับปะรด 11 คน พบว่า ความสามารถการทำงานเฉลี่ย 2.10 ไร่/ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ย 77.01% อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.67 ลิตร/ไร่ จากการทดสอบในแปลงปลูกสับปะรดที่วางผังปลูกแบบเกษตรกร คือ แถวของต้นสับปะรดตั้งฉากกับถนนในแปลง คนเก็บสับปะรดต้องเดินข้ามร่องปลูกเพื่อเก็บสับปะรด ตามแนวการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ ใช้แรงงานคนเก็บผลสับปะรด 5 คน พบว่าความสามารถการทำงาน 0.81 ไร่/ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 89.47% อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 1.14 ลิตร/ไร่