คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ผลของอายุการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการปนเปื้อนโลหะหนักในส่วนของผลผลิตหัวสด และมันเส้น
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการปนเปื้อนโลหะหนักในส่วนของผลผลิตหัวสด และมันเส้น
กัญญรัตน์ จำปาทอง, เมธาพร พุฒขาว, กฤชพร ศรีสังข์, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, ทิพดารุณี สิทธินาม, กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช, ขวัญตา มีกลิ่น, เพราพิลาส ขวาสระแก้ว, สุรสิทธิ์ อรรถจารุสิทธุ์, วนิดา โนบรรเทา และศราริน  กลิ่นโพธิ์กลับ

          เพื่อศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่เหมาะสมที่สามารถลดการปนเปื้อนโลหะหนักในหัวมันสดในแต่ละแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศ วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำ มี 6 กรรมวิธี คือ อายุเก็บเกี่ยว 8 10 12 14 16 และ 18 เดือน ทำการทดลอง 4 จังหวัดนำร่องที่มีปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในมันสำปะหลัง คือ จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก และกำแพงเพชร ใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรนิยมปลูกในแต่ละพื้นที่ ทำการทดลองตั้งแต่ปี 2555 - 2557 ผลการทดลองพบว่า ปริมาณโลหะหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น และปริมาณโลหะหนักที่พบในมันเส้นมีค่ามากกว่าหัวมันสด โดยในจังหวัดกาญจนบุรี พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสดทุกช่วงอายุเก็บเกี่ยว ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน พบค่าอยู่ระหว่าง 0.03 - 0.15 มก./กก. ในขณะที่มันเส้น ที่อายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 12 เดือน พบต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จังหวัดกำแพงเพชร พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด ทุกช่วงอายุเก็บเกี่ยว ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน พบค่าอยู่ระหว่าง 0.04 - 0.16 มก./กก. ในขณะที่มันเส้น ที่อายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 12 เดือน พบต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จังหวัดขอนแก่น พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด และมันเส้น เกินค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว พบค่าอยู่ระหว่าง 0.22 - 0.62 และ 0.42 - 2.56 มก./กก. ตามลำดับ จังหวัดพิษณุโลก พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด ที่อายุ 8 14 และ 16 เดือน เกินค่ามาตรฐาน มีค่า 0.21 0.33 และ 0.39 มก./กก. ตามลำดับ ในมันเส้นเกินค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว พบค่าอยู่ระหว่าง 0.26 - 1.65 มก./กก. สำหรับปริมาณสารหนู และแคดเมียม ในหัวมันสด และมันเส้น ทั้ง 4 จังหวัด พบต่ำกว่าค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว การที่มันสำปะหลังดูดดึงปริมาณโลหะหนักแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดดิน ค่า  pH และอินทรียวัตถุในดิน เมื่อค่า pH ของดินเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณโลหะหนักละลายออกมาสู่สารละลายดินน้อยลง ทำให้พืชดูดดึงตะกั่วลดลง ดังนั้นปริมาณโลหะหนักที่สะสมในพืชจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น หากดินนั้นมี pH เป็นกรด และมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินต่ำ