คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพงางอก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพงางอก
ศิริรัตน์ กริชจนรัช, สายสุนีย์ รังสิปิยกุล, กัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล, สมหมาย วังทอง และสมพงษ์  ชมภูนุกูลรัตน์
ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี

          ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพงางอก ดำเนินการในศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ในปี 2556 - 2557 โดยเพาะเมล็ดงาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 จำนวน 2.5 กรัม ในกล่องพลาสติก ขนาด 12 x 16 นิ้ว โดยใช้ทรายเป็นวัสดุเพาะวางแผนการทดลอง แบบ CRD มี 4 ซ้ำ กรรมวิธี คือ สภาพห้องขณะเพาะเมล็ดในการผลิตงางอก มี 7 กรรมวิธี ได้แก่ 1. สภาพห้องปกติ ไม่พรางแสง 2. สภาพห้องปกติ พรางแสงร้อยละ 50 3. สภาพห้องปกติ พรางแสงร้อยละ 60 4. สภาพห้องปกติ พรางแสงร้อยละ 70 5. สภาพห้องปกติ พรางแสงร้อยละ 80 6. สภาพห้องปรับอากาศ 25 องศาเซลเซียส ให้แสง (หลอดไฟนีออน) และ 7. สภาพห้องปรับอากาศ 25 องศาเซลเซียส ไม่ให้แสง (มืด) ทำการทดลองซ้ำทุกเดือน จนครบ 12 เดือน เพื่อศึกษาช่วงที่เหมาะสมในการผลิตงางอก และวิเคราะห์สาระสำคัญ (กาบา) ในงางอก (เฉพาะในกรรมวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) ผลการทดลองพบว่า เดือนที่เหมาะสมในการผลิตงางอก คือ มิถุนายน - กรกฎาคม และการเพาะในห้องทั่วไป ภายใต้การพรางแสง 80% ได้น้ำหนักสดสูงสุด สำหรับสารกาบา พบว่า ในงางอกมีสูงกว่าในเมล็ดงาที่ไม่ผ่านการเพาะงอก โดยเฉพาะการเพาะในห้องควบคุมอุณหภูมิ ในสภาวะทึบแสง