คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาสารสำคัญในเปลือกเงาะเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่เงาะ
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาสารสำคัญในเปลือกเงาะเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่เงาะ
อภิรดี  กอร์ปไพบูลย์

          การสกัดสารซาโปนินจากเปลือกเงาะสำหรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตร มีประสิทธิภาพในการกำจัดหอยเชอรี่ ยับยั้งเชื้อราสาเหตุของโรคผลเน่าและใบจุดที่สำคัญในผลไม้หลายชนิด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสกัดสาร ชนิดและปริมาณของสารซาโปนินจากเปลือกเงาะ นำเปลือกเงาะแห้ง 100 กรัม สกัดโดยใช้ เอธานอล 70% เมทานอล 70% และน้ำกลั่น โดยวิธีการแช่และสกัดแบบไหลย้อนกลับพบว่า สารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดแบบแช่มีน้ำหนัก 42.47 45.91 และ 35.89 กรัม ตามลำดับ  การสกัดแบบไหลย้อนกลับมีน้ำหนัก 51.63 47.74 และ 28.46 กรัมตามลำดับ  ตรวจวิเคราะห์ชนิดสารสกัดเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานไตรเทอร์พีนนอยด์ ซาโปนิน  และสารมาตรฐานดิจิโทนิน  โดยวิธี Foam test และ Liebermann-Burchard test พบว่าสารสกัดมีคุณสมบัติเป็นไตรเทอร์พีน ซาโปนิน และสเตียรอยด์ ซาโปนิน  วิเคราะห์ปริมาณซาโปนินด้วยเครื่องสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ ตามวิธีของ Pasaribu, 2014 พบว่าสารที่สกัดแบบไหลย้อนกลับด้วยเมทานอล 70% มีปริมาณสารซาโปนิน 422.05 mg/g สูงกว่าเอธานอล 70% และน้ำกลั่น นำสารสกัดหยาบทดสอบการกำจัดหอยเชอรี่โดยเลี้ยงในน้ำผสมสารสกัดหยาบซาโปนิน 0 1,000 2,000 4,000 ppm. พบว่าที่ความเข้มข้น 0 ppm หอยเชอรี่มีชีวิตที่ 2,000 และ 4,000 ppm หอยเชอรี่ตายภายใน 12 ชม. ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อรา 3 ชนิด ในจานเลี้ยงเชื้อ คือ Phytophthora palmivora, Colletotrichum sp. and Marasmius palmivorus Sparples บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ผสมสารสกัดหยาบซาโปนินที่ความเข้มข้น 0 1,000 2,000 ppm พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ทั้ง 3 ชนิด