คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การศึกษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟโรบัสตาที่ได้จากการตากแห้งผลสดที่ชะลอการตากไว้ที่ระยะต่างๆ
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟโรบัสตาที่ได้จากการตากแห้งผลสดที่ชะลอการตากไว้ที่ระยะเวลาต่างๆ กัน
ปานหทัย นพชินวงศ์, สุรีรัตน์ ปัญญาโตนะ และเสรี อยู่สถิตย์
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน

          การศึกษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟโรบัสตาที่ได้จากการตากแห้งผลสดที่ชะลอการตากไว้ที่ระยะเวลาต่างๆ กัน ทำการทดลอง ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ตั้งแต่ ต.ค. 2555 – ก.ย. 2557 การทดลองมี 5 กรรมวิธี คือ 1) ลอยผลกาแฟและทำการตากภายในวันเดียวกัน 2) ไม่ลอยผลกาแฟและทำการตากภายในวันเดียวกัน 3) 4) และ 5) ไม่ลอยผลกาแฟ ทำการหมักในกระสอบปุ๋ย 3 วัน, 7 วัน และ 14 วัน ก่อนนำออกตาก ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า กรรมวิธีที่ 1 เป็นวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด เมล็ดกาแฟที่ได้มีอัตราการเข้าทำลายของเชื้อรา 90% น้อยกว่ากรรมวิธีอื่น   มีสัดส่วนของเชื้อรา A.  niger 58.5% และ A. flavus 3.25% น้อยกว่ากรรมวิธีอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดีมากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 93.55  มีข้อบกพร่องรวมน้อยไม่เกินร้อยละ 7 และมีคุณภาพการชิมที่ดีผ่านเกณฑ์มาตรฐาน วิธีการตากที่ดีรองลงมา คือ กรรมวิธีที่ 2 และ 3 ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยการเข้าทำลายเมล็ดกาแฟของเชื้อราใกล้เคียงกับกรรมวิธีที่ 1 และมีสัดส่วนของเชื้อรา A. niger และ A. flavus สูงกว่ากรรมวิธีที่ 1 ไม่มากนัก ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพประมาณ 90% แต่ทั้ง 2 วิธีนี้เมล็ดมีรสชาติไม่แน่นอน ส่วนกรรมวิธีที่ 4 และ 5 มีอัตราการเข้าทำลายเมล็ดกาแฟของเชื้อราสูงกว่ากรรมวิธีอื่นที่ 94 - 97%  มีสัดส่วนของเชื้อ A. flavus 8 - 15% ซึ่งสูงว่ากรรมวิธีอื่นๆ ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพน้อยกว่า 90% นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องรวมสูงร้อยละ 13 - 15.8 เกินเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อ และเมล็ดกาแฟที่ได้มีรสชาติไม่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานการชิม จากการทดลองไม่พบสารพิษในเมล็ดกาแฟทุกกรรมวิธี