คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: ศึกษาฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่นของสารสกัดจากเปลือกกล้วยและการประยุกต์ใช้ในการผลิตโลชั่น
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
ศึกษาฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่นของสารสกัดจากเปลือกกล้วยและการประยุกต์ใช้ในการผลิตโลชั่น
วิมลวรรณ วัฒนวิจิตร, โกเมศ สัตยาวุธ, ประยูร เอ็นมาก และศิริพร เต็งรัง
กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          การศึกษาสารที่มีฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่นของสารสกัดจากเปลือกกล้วยและการประยุกต์ใช้ในการผลิตโลชั่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเปลือกกล้วยชนิดต่างๆ ดำเนินการระหว่างปี 2554 – 2555 ที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โดยศึกษาผลของอัตราส่วนของเปลือกกล้วยต่อเอทานอลที่ 1 : 5 w/v และ 1 : 10 w/v และความเข้มข้นของเอทานอลที่ใช้สกัด 95 % v/v และ 70 v/v ต่อความสามารถต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดในตัวอย่างเปลือกกล้วย 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ และกล้วยเล็บมือนาง พบว่าอัตราส่วนของเปลือกกล้วยต่อเอทานอลที่เหมาะสมคือ 1 : 5 และการสกัดสารสกัดจากเปลือกกล้วยโดยใช้สารละลายเอทานอล 70%v/v สามารถสกัดสารสกัดเปลือกกล้วยที่มีความสามารถต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดสูงกว่าการสกัดด้วยสารละลายเอทานอล 95 % v/v จากการศึกษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยทดสอบการจับกับอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS โดยสมมูลกับวิตามินซี (VCEAC) ปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดโดยวิธี Folin-Ciocalteu และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์ทั้งหมดในรูปมิลลิกรัมของคาเตชิน พบว่าสารสกัดจากเปลือกกล้วยเล็บมือนางมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด รองลงมา ได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า โดยมีค่า VCEAC อยู่ระหว่าง 36.53 – 147.90 mg/100 g น้ำหนักสด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดในสารสกัดจากเปลือกกล้วยทั้ง 4 ชนิด โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 104.40 – 179.01 mg กรดแกลลิก/100 g น้ำหนักสด และมีปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์ทั้งหมดอยู่ระหว่าง 0.51 – 50.92 mg คาเตชิน/100 g น้ำหนักสด นอกจากนี้การประยุกต์ใช้สารสกัดเปลือกกล้วยเล็บมือนางในผลิตภัณฑ์โลชั่น ได้โลชั่นผสมสารสกัดเปลือกกล้วยเนื้อสีขาว มีช่วง pH เหมาะสมมีความคงสภาพ และการยอมรับโดยรวมของผลิตภัณฑ์ในระดับชอบมาก การถ่ายทอดความรู้ในการสกัดสารสกัดเปลือกกล้วยและการผลิตโลชั่นทำให้มีผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด